สัญญาณเตือนภัยที่ผู้บริหารต้องทนฟัง จาก กรรมการ กสทช พันเอก เศรษพงศ์

Last updated: 20 ธ.ค. 2559  |  396 จำนวนผู้เข้าชม  | 

สัญญาณเตือนภัยที่ผู้บริหารต้องทนฟัง จาก กรรมการ กสทช พันเอก เศรษพงศ์.....

สัญญาณเตือนภัยจากการพลิกผันดิจิทัล (Digital disruption) ที่กำลังเกิดผลกระทบภายใน 2-5 ปี จากนี้ (สรุปจากบทวิเคราะห์และงานวิจัยหลายแหล่งและจากงานในระดับนานาชาติ เช่น CEBIT, GSMA และ ITU เป็นต้น) ซึ่งผู้เขียนวิเคราะห์ว่าข่อมูลดังกล่าว สามารถนำมาสะท้อนภาพสถานการณ์การ disruption ของประเทศไทยได้ และจะเป็นประโยชน์แก่ผู้บริหารระดับสูง ซึ่งมีสาระสำคัญ ดังต่อไปนี้

สื่อสิ่งพิมพ์ที่ใช้กระดาษมีความต้องการลดลงจนหนังสือที่มีชื่อเสียงในทุก sector หลายฉบับจะปิดตัว และโรงพิมพ์จะลดการทำงานลงกว่าครึ่ง โดยจะเกิดสื่อใหม่จากบริษัทใหม่และ startup ที่ไม่เคยอยู่ในตลาดมาก่อนเกิดขึ้นมากมาย เช่น LINE กระโดดเข้ามาทำข่าวคล้ายๆสื่อหนังสือพิมพ์, Facebook มีการ share ข้อมูลข่าวสารที่เกิดขึ้นแบบ realtime รวมไปถึงพฤติกรรมของมนุษย์ที่อ่านตัวอักษรน้อยลง แต่ดูข่าวสารในรูปแบบ vdo แทน และพฤติกรรมจะก้าวไปสู่การใช้เวลามากขึ้นกับสื่อ vdo ที่นำเสนอแบบ realtime จนทำให้สื่อเดิมที่เป็นรูปแบบสิ่งพิมพ์ที่รายงานข่าวที่ไม่สดเพียงพอ และนิตยสารที่ถูกแย่งเวลาการอ่านไป จะถูกลบออกจากความสนใจและออกจากตลาดไปอย่างรวดเร็ว (ย้ำ...อย่างรวดเร็ว)

ธุรกิจ Broadcasting จะมีการเกิดใหม่ของบริษัท start up เล็กๆ ของคนรุ่นใหม่ (อาจมีพนักงานไม่เกิน 10 คน แต่มีเครือข่ายการ share content) ทำรูปแบบธุรกิจ vdo realtime เช่น สารคดีสด, สัมภาษณ์สด, สัมมนาสด, รายงานข่าวสด, ติดตาม celebrity สด ไปจนถึงผู้มีชื่อเสียงที่มีองค์ความรู้ในลักษณะผู้เชี่ยวชาญจะถ่ายทอดสดด้วยตัวเอง โดยอาจมี studio เล็กๆ หรือไม่มีเลย แต่จะใช้เทคโนโลยี broadband mobile ด้วยการใช้ application คล้ายๆ Facebook Live (แต่จะมีประสิทธิภาพมากกว่า Facebook Live มาก ใน 2-5 ปีข้างหน้า) จนทำให้เวลาของคนทั่วไปถูกแบ่งจากสื่อองค์กรใหญ่แบบดั้งเดิมไปเสพสื่อที่เกิดใหม่เกือบทั้งหมด โดยเฉพาะในกลุ่ม Y Generation

การเช่าที่เพื่อขายสินค้าต่างๆ ในห้างสรรพสินค้าระดับ mass จะมีผลกระทบเนื่องจากสินค้าเหล่านั้นกว่าครึ่งสามารถขายผ่านระบบ online เช่น e-commerce หรือ social media ต่างๆ ได้ และที่สำคัญ แนวโน้มการซื้อสินค้าที่เป็น mass ในกลุ่ม Y Generation เปลี่ยนไปซื้อสินค้าใน online ที่มีอัตราที่สูงมาก และสินค้าเหล่านั้นมีการเสนอขายแบบ realtime บนเครือข่าย social media และสามารถสื่อสารเสนอสินค้ากับลูกค้าด้วย realtime vdo อีกด้วย และไม่น่าเชื่อว่า ขณะนี้มีการซื้อขายเสื้อผ้าผ่าน online แล้วมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จึงจะมีผลต่อห้างสรรพสินค้า รวมไปถึงธุรกิจให้เช่าที่ขายสินค้า จะต้องปรับตัว

ธุรกิจการเงินการธนาคาร ที่พฤติกรรมของลูกค้าหันไปใช้ระบบธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ online มากขึ้นอย่างชัดเจน การทำธุรกรรมบนระบบ ATM และที่ธนาคารจะลดลงไปอย่างมาก จนทำให้จะต้องลดต้นทุนโดยการลดสาขาและตู้ ATM ที่มีต้นทุนสูงมากลงไปโดยปริยาย อีกทั้งการพัฒนาของเทคโนโลยี Blockchain จะทำให้รูปแบบ business model ของธนาคารที่เคยเป็นตัวกลางหลัก ต้องเปลี่ยนไปอย่างมาก และ ธุรกิจใหม่อย่าง Fintech จะเข้ามาท้าทายอย่างรวดเร็ว

ระบบการศึกษา จะมีรูปแบบที่เปลี่ยนไปอย่างมาก เพราะคนสามารถเข้าถึงความรู้ทั่วไปได้อย่างรวดเร็วเพียงปลายนิ้วสัมผัส และเกือบจะไร้ขีดจำกัดในการค้นหาข้อมูลด้วย search engine ที่มีประสิทธิภาพสูง มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารจากเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญ ขีดความสามารถของคนเพิ่มทวีคูณได้จากการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลบนฝ่ามือ คนที่มีความเพียรและมีวินัย จะสามารถหาความรู้นอกเหนือจากความรู้จากการศึกษาพื้นฐานในระบบได้อย่างไร้ขีดจำกัด จะเกิดรูปแบบการศึกษาเชิงนวัตกรรมดิจิทัล จากสถาบันการศึกษาใหม่จากกลุ่ม start up ในรูปแบบกึ่งดิจิทัลหรือแบบดิจิทัลสมบูรณ์แบบเกิดขึ้น และจะเกิดระบบการเรียนรู้แบบใหม่แบบ realtime และ content ที่ทันสมัยจากคนในกลุ่ม Y Generation ที่นำเสนอกับกลุ่มคนที่สนใจ และขยายวงกว้างมากขึ้น จนได้รับการยอมรับอย่างมาก

ระบบการจ้างงานและการเข้าถึง candidate จะเปลี่ยนไปอย่างมากในส่วนบุคคลากรที่มีความสามารถพิเศษในระดับผู้เชี่ยวชาญ และในส่วนบุคคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านดิจิทัล โดยบุคคลากรเหล่านี้จะไม่รับตำแหน่งงานประจำที่เป็นเงินเดือน และต้องยึดโยงกับสถานที่และเวลา แต่จะรับงานในรูปแบบสัญญาระยะสั้น (contract) โดยการจ้างงานจะเป็นลักษณะโครงการ หรือชิ้นงาน จบไปเป็นงานๆไป ส่วนบุคคลากรที่ไม่มีความเชี่ยวชาญที่มีความรู้ทั่วไปเท่านั้น จะต้องขวนขวายหาหลักสูตรฝึกอบรมระยะสั้นเพื่อให้เกิดความชำนาญเฉพาะด้าน มิฉะนั้นกลุ่มคนเหล่านี้จะหาตำแหน่งงานได้ยากยิ่ง เนื่องจากเทคโนโลยีดิจิทัล จะไปทำงานแทนตำแหน่งงานจำนวนมากที่เป็นงานด้าน administrative ทั่วไป

----------------------

ข้อคิดจากผู้เขียน สำหรับผู้บริหารในยุคดิจิทัล

บริษัทส่วนใหญ่ไม่ได้ตอบสนองต่อ Digital disruption โดยทันที แต่จะตอบสนองก็ต่อเมื่อมันได้ผ่านมาได้ในระยะหนึ่งแล้ว หรือเมื่อสายไปเสียแล้ว

เหตุผลสำคัญที่องค์กรพึงพอใจกับสิ่งที่ตนเองเป็นอยู่ และหยุดนิ่งอยู่กับที่ ก็คือความรู้สึกว่าจะต้องล้มเหลวหากมีการเปลี่ยนแปลง

องค์กรที่ประสบความสำเร็จ มักจะมีการใช้ผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิทัล เพื่อเข้ามาทำการเปลี่ยนแปลงองค์กร

องค์กรที่ประสบความสำเร็จ และยังคงอยู่รอดต่อไป มักจะมีการให้บริการที่เลียนแบบจากคู่แข่งที่กำลังจะเข้ามาใหม่ในตลาด

ผู้ครอบครองตลาด จำเป็นที่จะต้องทบทวนรูปแบบธุรกิจอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้แน่ใจว่ารูปแบบธุรกิจของตัวเองไม่ล้าสมัย และทันสมัยไปอีกขั้นอยู่เสมอ

ในขณะที่โลกยุคใหม่มีการขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้นทุกขณะ คู่แข่งใหม่มักจะเกิดขึ้นจากอุตสาหกรรมที่ใกล้เคียงกัน ที่จะเข้ามาท้าทายอำนาจเดิม

ในปัจจุบันจะไม่มีคำถามอีกต่อไปแล้วว่า การปฏิวัติดิจิทัลจะเกิดขึ้นเมื่อใด แต่คำถามจริงๆที่กำลังเกิดขึ้นก็คือ "องค์กรจะรับมืออย่างไร กับการปฏิวัติดิจิทัลที่เกิดขึ้น ณ เวลานี้"

"ขอให้ทุกท่านโชคดี"

------------------

พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ

รองประธาน กสทช. และประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคม

27 พฤศจิกายน 2559 10:00

www.เศรษฐพงค์.com

Powered by MakeWebEasy.com