Last updated: 1 มี.ค. 2560 | 1015 จำนวนผู้เข้าชม |
โทรทัศน์ในยุคของการหลอมรวมสื่อและอินเทอร์เน็ต จะบอกว่าบริการอะไรเป็นโทรทัศน์หรือไม่เป็นโทรทัศน์ชักจะยากขึ้นทุกที และถ้าเจ้าหน้าที่เองไม่สามารถบอกว่าอะไรเป็นอะไรได้ การจะกำกับดูแลกิจการก็แทบจะเป็นไปไม่ได้
เมื่อเริ่มทำหน้าที่ใหม่ๆ กสทช. ออกประกาศ ฉบับหนึ่งที่เรียกว่า ประกาศกำหนดลักษณะและประเภทของกิจการโทรทัศน์ ที่เป็นการใช้อำนาจตาม พรบ. องค์กรจัดสรรฯ ปี 53 ที่ให้อำนาจไว้ในมาตรา ๒๗ (๓) กำหนดลักษณะและประเภทของกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการ โทรคมนาคม
นี่เป็นประกาศที่สำคัญมาก เพราะ กสทช. ใช้อำนาจตามกฎหมายที่มี กำหนดว่าอะไรเป็นโทรทัศน์หรือไม่ แล้วก็ใช้อำนาจในส่วนการกำกับเข้าไปดูแล
ในอดีตประกาศแบบนี้แทบไม่มีความจำเป็น เพราะทีวีมีอยู่ไม่กี่ช่องและล้วนดำเนินการโดยหน่วยราชการหรือรับสัมปทานมาจากราชการ การกำกับดูแลจึงไม่ยากและสามารถจัดการกันไปเองได้โดยหน่วยราชการกันเอง
ในยุคต้นของการหลอมรวมสื่อ เทคโนโลยีดิจิทัลและการสื่อสารผ่านดาวเทียมทำให้เกิดระบบโทรทัศน์ที่ส่งผ่านดาวเทียมได้ ทำให้เคเบิลทีวีต่างจังหวัดคึกคักเพราะสามารถเกี่ยวช่องรายการจากสัญญาณดาวเทียมมาออกอากาศ(ทั้งฟรีและละเมิด) และต่อมาก็ขยายตัวเข้าสู่ระบบโครงข่ายอินเทอร์เน็ต เกิดโทรทัศน์ผ่านอินเทอร์เน็ตขึ้น
ในช่วงพัฒนาการของโทรทัศน์ที่มีการขยายตัวอย่างมากนั้น เป็นโชคไม่ดีอย่างหนึ่งของประเทศที่ไม่สามารถจัดตั้งองค์กรกำกับดูแลกิจการโทรทัศน์ได้ มีการฟ้องร้องในการสรรหา กสช. ทำให้เรื่องค้างคาอยู่นาน ประกอบกับปัญหาการเมืองในช่วงนั้น ทำให้เกิดสุญญากาศของการกำกับดูแลวิทยุ-โทรทัศน์ (2540-2555)
กรมประชาสัมพันธ์ที่มีอำนาจอยู่เดิมมิได้ถูกออกแบบมาเพื่อการกำกับวิทยุโทรทัศน์ที่พัฒนาเปลี่ยนไป และสูญเสียอำนาจกำกับดูแลวิทยุ-โทรทัศน์ไปด้วยผลของรัฐธรรมนูญ 2540 .. ผลตามมาก็คือการเกิดทีวีดาวเทียมแบบไร้การกำกับดูแล มีเคเบึลทีวีที่ไม่มีการขออนุญาต(เพราะไม่รู้จะไปขอกับใคร) และมีวิทยุชุมชนที่ล้วนผิดกฎหมายทั่วประเทศ
ประกาศของ กสทช. ดังกล่าวแยกแยะและนิยามรูปแบบและองค์ประกอบของการให้บริการโทรทัศน์ และ กสทช. ก็สามารถวางกติกาที่เหมาะสมและจำเป็นสำหรับการประกอบกิจการในแต่ละส่วน และแต่ละรูปแบบ แล้วก็กำกับการประกอบกิจการให้เกิดประโยชน์แก่สังคมไปได้
วันนี้เกิดโทรทัศน์ผ่านอินเทอร์เน็ต และเกิดปัญหาว่าอินเทอร์เน็ตทีวีคือโทรทัศน์หรือไม่ อยู่ในอำนาจของ กสท. ที่ดูแลกิจการโทรทัศน์ หรืออยู่ในอำนาจของ กทค. ที่ดูแลกิจการโทรคมนาคม
ปัญหาเรื่องโทรทัศน์ผ่านอินเทอร์เน็ตอยู่ในอำนาจของ กสท.หรือกทค.นั้นตอบได้ไม่ยาก ช่องโทรทัศน์ก็คือช่องโทรทัศน์ เป็นชุดของรายการและมีผังรายการ มีชื่อเรียกของช่องชัดเจน ถ้าว่าไปตามกฎหมาย
โทรทัศน์ก็คือโทรทัศน์ จะไปออกในช่องทางไหน โครงข่ายอะไร ก็ไม่ได้ทำให้ความเป็นโทรทัศน์เสียไป .. ไม่ต่างจากโทรทัศน์ทางสายที่เป็นเคเบิลทีวีก็ยังคงเป็นโทรทัศน์ เมื่อไปออกผ่านดาวเทียมเป็น แซตเทิลไลท์ ทีวี ก็ยังเป็นโทรทัศน์ ช่องทางไม่ทำให้กลายเป็นโทรคมนาคมไปได้ อำนาจการกำกับดูแลจึงเป็นของ กสท. ชัดเจน
นี่เป็นเรื่องที่ กสทช.จะต้องตกลงกันภายในให้เด็ดขาด ไม่ควรทำงงแล้วปล่อยเอกชนแสวงหาประโยชน์กันโดยสังคมเสียหายไปเรื่อยๆ มันพิลึก .. ใครที่ไม่เอากับเขาด้วยขอแนะนำให้หาทางบันทึกคำพูดไว้ในรายงานการประชุมหรือทำบันทึกเอาเองก็แล้วกัน
บางคนอาจจี้ไปที่การรับชมแบบไม่เป็นLinear คือการชมผ่านเน็ตแบบย้อนหลังไม่ต้องคอยเวลาออกอากาศว่าไม่ใช่โทรทัศน์ แต่ที่นี่มองว่ารายการโทรทัศน์ยังไงๆ มันก็ยังเป็นรายการโทรทัศน์ที่ถ้าทำอันตรายต่อเยาวชนและสังคม รัฐก็ต้องกำกับดูแล
อาจมีพวกคลิปบ้าง หรือรายการเฉพาะหรืออะไรที่เทาๆ กสทช.ก็มีอำนาจทางกฎหมายที่จะประกาศกำหนดเพิ่มได้ ว่าเป็นโทรทัศน์ประเภทหนึ่งหรือไม่ไว้ในส่วนของ “หรือกิจการอื่นทำนองเดียวกัน” ที่ พรบ. มีนิยามเอาไว้
วันนี้ คิดว่าถึงจุดที่ กสทช. จะต้องตัดสินใจแล้ว ว่าจะกำกับกิจการโทรทัศน์ในอนาคตแบบไหน จะทำอย่างไรกับบริการโทรทัศน์และวีดีโอในอินเทอร์เน็ต และ กสทช. จะใช้อำนาจในการคุ้มครองประโยชน์ของสังคมอย่างไร
จากนั้นหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงดีอี กระทรวงวัธนธรรมหรือหน่วยอื่นๆ จะได้เข้ามาอุดช่องว่างที่อาจมีต่อไป
13 ก.พ. 2561
12 มี.ค. 2561
13 ก.พ. 2561
13 ก.พ. 2561