Last updated: 14 ต.ค. 2560 | 2058 จำนวนผู้เข้าชม |
อวสานสื่อสิ่งพิมพ์?
(โดย เพจลงทุนแมน)
มองย้อนกลับไปเมื่อก่อน การที่เราจะได้รับรู้ข่าวสารในแต่ละวัน คงหนีไม่พ้น หนังสือพิมพ์ ที่จะมีคนนำมาส่งให้ทุกเช้า หรือแวะซื้อจากแผงหนังสือข้างทาง
แต่ทุกวันนี้ เราสามารถอ่านข่าวทั้งหมดได้ในมือถือตั้งแต่ตื่นนอนอยู่บนเตียง จนบางคนอ่านข่าวตอนเช้าก่อนแปรงฟันเสียอีก แถมข่าวที่เราอ่านยัง “ฟรี” ไม่ต้องเสียเงินซื้อเหมือนหนังสือพิมพ์
ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และต้นทุนในการใช้ที่ถูกลง (เช่น ค่าอินเตอร์เน็ตและค่ามือถือ) ทำให้บริษัทสื่อสิ่งพิมพ์หลายๆ เจ้าซึ่งไม่ใช่เฉพาะแต่หนังสือพิมพ์ มีรายได้ลดลง
สัญญาเตือนระลอกแรกก็น่าจะเป็น นิตยสารหลายฉบับเริ่มปิดตัวลง เช่น สกุลไทย IMAGE พลอยแกมเพชร
ส่วนระลอกที่สองก็คงหนีไม่พ้นหนังสือพิมพ์ข่าวรายวัน ที่เมื่อก่อนเคยเป็นเสือนอนกิน มีรายได้มากที่สุดในบรรดาสื่อสิ่งพิมพ์
แล้วเรื่องนี้กระทบกับหนังสือพิมพ์มากแค่ไหน?
สำหรับผู้นำตลาดหนังสือพิมพ์ในบ้านเรา ก็คงเป็นหนังสือพิมพ์ ไทยรัฐ ของครอบครัว วัชรพล และ เดลินิวส์ ของครอบครัว เหตระกูล
เมื่อเราลองดูรายได้ 5 ปีหลังสุดของทั้ง 2 บริษัท
บริษัท วัชรพล จำกัด (ไทยรัฐ)
ปี 2555 มีรายได้รวม 5,075 ล้านบาท กำไร 1,880 ล้านบาท
ปี 2556 มีรายได้รวม 5,165 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 2%) กำไร 2,093 ล้านบาท
ปี 2557 มีรายได้รวม 4,453 ล้านบาท (ลดลง 14%) กำไร 1,648 ล้านบาท
ปี 2558 มีรายได้รวม 3,905 ล้านบาท (ลดลง 12%) กำไร 1,456 ล้านบาท
ปี 2559 มีรายได้รวม 3,071 ล้านบาท (ลดลง 21%) กำไร 928 ล้านบาท
บริษัท สี่พระยาการพิมพ์ จำกัด (เดลินิวส์)
ปี 2555 มีรายได้รวม 1,906 ล้านบาท กำไร 163 ล้านบาท
ปี 2556 มีรายได้รวม 1,902 ล้านบาท (ลดลง 0.2%) กำไร 296 ล้านบาท
ปี 2557 มีรายได้รวม 1,643 ล้านบาท (ลดลง 14%) กำไร 64 ล้านบาท
ปี 2558 มีรายได้รวม 1,348 ล้านบาท (ลดลง 18%) กำไร 32 ล้านบาท
ปี 2559 มีรายได้รวม 1,182 ล้านบาท (ลดลง 12%) กำไร 110 ล้านบาท
จะเห็นได้ว่ารายได้ของทั้งคู่เริ่มลดลงอย่างชัดเจนตั้งแต่ปี 2557 หรือ 3 ปีที่แล้ว ซึ่งส่วนใหญ่ก็น่าจะมาจากค่าโฆษณาที่ลดลง
อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 บริษัทก็มีการเตรียมตัวและได้เริ่มปรับตัวให้เข้ากับพฤติกรรมการเสพสื่อในปัจจุบัน และไม่ได้เน้นที่ธุรกิจหนังสือพิมพ์เพียงอย่างเดียวอีกต่อไป
โดยต่างก็มีเว็บไซต์เพื่อนำเสนอข่าว และ ช่องทีวีดิจิตอลเป็นของตัวเอง (ไทยรัฐทีวี และ นิวทีวี)
ทีนี้เราลองมาดูรายได้ของบริษัทใหม่ของไทยรัฐ ที่ตั้งขึ้นเมื่อปี 2551 เพื่อรับผิดชอบเว็บไซต์ สื่อดิจิตอล และบริการข้อมูลข่าวสาร ผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือ
บริษัท เทรนด์ วีจี 3 จำกัด ในเครือ วัชรพล
ปี 2556 มีรายได้รวม 57 ล้านบาท กำไร 11 ล้านบาท
ปี 2557 มีรายได้รวม 72 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 25%) กำไร 11 ล้านบาท
ปี 2558 มีรายได้รวม 87 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 22%) กำไร 7 ล้านบาท
ปี 2559 มีรายได้รวม 140 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 60%) กำไร 17 ล้านบาท
ถึงแม้ว่า รายได้เติบโตอย่างต่อเนื่อง สวนทางกับทิศทางของธุรกิจหนังสือพิมพ์ แต่ก็ยังถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับฐานเดิมของบริษัทหลัก
และธุรกิจดิจิตอลทีวีของทั้งไทยรัฐและเดลินิวส์ ก็คงยังไม่ทำกำไร เพราะมีการแข่งขันสูงมากในตลาดดิจิตอลทีวี เรียกได้ว่าเป็นการหนีเสือปะจระเข้ รายได้เดิมก็ถดถอย ธุรกิจใหม่ก็ขาดทุน
เรื่องนี้เป็นตัวอย่างของการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี ที่ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน และสินค้าดั้งเดิมก็อาจจะได้รับผลกระทบ ตามที่ลงทุนแมนเคยอธิบายเกี่ยวกับกระบวนการ 6D ของหนังสือชื่อ Bold
เรื่องนี้เริ่มต้นจาก D ที่ 1 คือ Digitized ซึ่งเป็นกระบวนการทำให้เรื่องบนโลกจริงเข้าสู่โลกดิจิตอล เราจะเห็นได้ว่า ข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ได้ถูกเปลี่ยนรูปแบบแทรกเข้าไปในหน้าเว็บไซต์ หน้าไลน์ หน้าเฟซบุ๊ค ของเราหมดแล้ว
ต่อมา D ที่ 2 คือ Deceptive การหลอกตัวเองว่าสื่อสิ่งพิมพ์ยังไม่หายไปไหนหรอก กระดาษยังมีการสัมผัสจับต้องได้ คนยังชอบอ่านจากกระดาษกันอยู่
D ที่ 3 Disruptive กระบวนการทำลายของดั้งเดิม จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนตั้งตัวไม่ทัน จริงอยู่ที่มีหลายคนชอบการสัมผัสของกระดาษ แต่อ่านจากในมือถือมันสะดวกกว่า สดใหม่กว่า รวดเร็วกว่า ข่าวในกระดาษต้องพิมพ์วันรุ่งขึ้น ซึ่งทุกคนได้รับรู้ข่าวไปตั้งแต่วันนี้แล้ว ทำให้ตลาดเดิมจะถูกแย่งไปเรื่อยๆดังปรากฏให้เห็นในรายได้ของ ไทยรัฐ และ เดลินิวส์
D ที่ 4 Demonetized เมื่อเทคโนโลยีมาแทนที่ โมเดลเรื่องการเก็บเงินจากลูกค้าจะเปลี่ยนไปจนใกล้เคียง 0 ตอนนี้เราอ่านข้อมูลต่างๆได้ฟรี ไม่ต้องเสียเงินซื้อหนังสือพิมพ์ หรือ นิตยสารเหมือนเมื่อก่อน
D ที่ 5 Dematerialized เมื่อกระบวนการทำลายเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ถึงจุดหนึ่ง ของเดิมก็จะหายไป ตลาดของกระดาษสิ่งพิมพ์ก็เล็กลง จนไม่สามารถ economy of scale ได้อีกต่อไป ต้องปิดตัวลง และหายไปเหมือนที่เกิดขึ้นแล้วกับนิตยสารบางฉบับ
D ที่ 6 Democratized สุดท้ายจะไม่มีใครเป็นเจ้าของที่ผูกขาดอย่างแท้จริง ข้อมูลเนื้อหาของใครมีดี คนนั้นก็ได้รับความนิยม จากที่เมื่อก่อน หนังสือพิมพ์ไม่กี่เจ้าจะมีอิทธิพลอย่างมากต่อสังคม แต่ตอนนี้ผู้มีอิทธิพลจะขึ้นกับเสียงโหวตของคนบริโภคเอง ถ้าข้อมูลไหนดีจะได้ like เยอะ ถ้าข้อมูลไหนไม่ดีก็จะตกไปเอง ทุกคนสามารถเป็น Influencer ได้ถ้าเก่งในเรื่องนั้นจริง
สุดท้ายแล้ว เทคโนโลยี จะทำให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์มากขึ้น สะดวกมากขึ้น
ทุกวันนี้ เราเริ่มซื้อของออนไลน์ มากกว่าในร้านค้าจริง
ทุกวันนี้ เราเริ่มแชร์ข่าวสารให้เพื่อน คุยกับเพื่อนในไลน์ มากกว่าตัวจริง
เคยไหม? เราถูกพ่อแม่ หรือ แฟน เราโกรธ เพราะสนใจเรื่องในมือถือมากกว่า เรื่องที่เขากำลังเล่าอยู่
ทุกวันนี้ เราเริ่มใช้เวลาออนไลน์มากกว่าในชีวิตจริง
และนี่เป็นแค่จุดเริ่มต้น
ประวัติศาสตร์มนุษย์เกิดขึ้นมาแล้ว 100,000 ปี
ไอโฟนเกิดขึ้นเมื่อ 10 ปีที่แล้ว
เราเริ่มเล่นไลน์เมื่อ 5 ปีที่แล้ว
รายได้หนังสือพิมพ์เริ่มลดลงเมื่อ 3 ปีที่แล้ว
จุดนี้ไม่ใช่จุดสุดท้าย แต่เป็นแค่จุดเริ่มต้น
ก็น่าคิดว่า ในอนาคตของพวกเรา ณ จุดสุดท้ายจะเป็นอย่างไร?..
13 มี.ค. 2561
13 ก.พ. 2561
13 ก.พ. 2561
13 มี.ค. 2561