อดีตผู้บริหารเฟซบุ๊กเผยเฟซบุ๊กทำลายสังคม และชี้อันตรายของสื่อสังคมออนไลน์ที่มีต่อสังคมทั่วโลก

Last updated: 13 ก.พ. 2561  |  1679 จำนวนผู้เข้าชม  | 

อดีตผู้บริหารเฟซบุ๊กเผยเฟซบุ๊กทำลายสังคม และชี้อันตรายของสื่อสังคมออนไลน์ที่มีต่อสังคมทั่วโลก (คมชัดลึก 13 ธันวาคม 2560)
http://www.komchadluek.net/news/foreign/305591


ชามัท พาลีหพิติยา ( Chamath Palihapitiya )อดีตผู้บริหารเฟซบุ๊ก กล่าวว่า เขารู้สึกผิดอย่างร้ายแรงที่มีส่วนสร้างเครื่องมือทำลายโครงสร้างความสัมพันธ์ทางสังคม ทั้งแนะนำให้ผู้คนพักตัวเองจากสื่อสังคมออนไลน์อย่างจริงจัง

ความเห็นของชามัท มีขึ้นระหว่างร่วมงานเสวนาที่สแตนฟอร์ด บิสเนสส สกูล เมื่อเดือนพฤศจิกายน และเว็บไซต์ข่าว Verge ได้นำมาเผยแพร่ในสัปดาห์นี้

ชามัท เข้าทำงานในเฟซบุ๊กเมื่อปี 2550 และเคยนั่งตำแหน่งรองประธานฝ่ายขยายการเติบโตของจำนวนผู้ใช้ ก่อนลาออกในปี 2554 ปัจจุบันเป็นผู้บริหารบริษัท โซเชียล แคปปิตัล ที่มุ่งให้ทุนสนับสนุนบริษัทด้านการดูแลสุขภาพและการศึกษา

การวิจารณ์ของเขาไม่ได้หมายถึงเฟซบุ๊กเท่านั้น แต่หมายรวมถึงระบบนิเวศออนไลน์ทั้งหมดว่า ไม่ช่วยสร้างวาทกรรมทางสังคม ข้อมูลผิด และลดทอนความจริง ระบบฟีดแบ็กที่สร้างขึ้นมา ที่รวมถึงการแสดงออกด้วยการให้หัวใจ กดไลค์ หรือยกนิ้วหัวแม่มือ ล้วนทำลายการทำงานของสังคม

“ไม่ใช่ปัญหาของอเมริกา ไม่ใช่แค่เรื่องการลงโฆษณาของรัสเซีย นี่เป็นปัญหาของโลก มันกำลังกัดกร่อนถึงฐานรากพฤติกรรมระหว่างกัน” อดีตรองประธานเฟซบุ๊กกล่าว และได้ยกตัวอย่างเหตุการณ์ในอินเดียที่มีการแชร์ข้อมูลมั่วบนแอพพลิเคชั่น WhatsApp (ซึ่งเป็นของเฟซบุ๊ก) นำไปสู่การประชาทัณฑ์ผู้บริสุทธิ์ 7 คน

ชามัท กล่าวว่า เขาไม่สามารถควบคุมสื่อสังคมออนไลน์ได้ แต่คุมการตัดสินใจของตัวเองได้ด้วยการใช้เฟซบุ๊กน้อยที่สุด และควบคุมการตัดสินใจของลูกได้ ด้วยการไม่อนุญาตให้ใช้ นอกจากนี้เขายังแนะนำให้ผู้ฟังการเสวนาในวันนั้น สำรวจความสัมพันธ์ของตัวเองกับสื่อสังคมออนไลน์ หลายคนไม่รู้ตัวว่าพฤติกรรมของเรากำลังถูกตั้งโปรแกรมไว้ แต่ขณะนี้ต้องตัดสินใจแล้วว่าจะยอมจำนน และเป็นอิสระทางความคิดแค่ไหน กระนั้นเขายังเชื่อว่า ที่ผ่านมาเฟซบุ๊กทำเรื่องดีๆแก่โลกมากมาย

เมื่อเดือนที่แล้วเช่นกัน ฌอน พาร์คเกอร์ อดีตประธานรุ่นก่อตั้ง ที่เคยช่วยสร้างเฟซบุ๊กจนกลายเป็นบริษัททรงอิทธิพล แต่รู้สึกเสียใจถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น ณ วันนี้ พาร์คเกอร์ วิจารณ์ว่าเฟซบุ๊กและสื่อสังคมออนไลน์อื่น ประสบความสำเร็จในการใช้ประโยชน์จากความเปราะบางในจิตใจคน ผ่านวงจรฟีดแบ็กที่ทำให้คนโพสต์เพื่อยอดไลค์และความเห็น "การใช้เฟซบุ๊คเหมือนกับอาหารขยะ คุณได้ความพึงพอใจทันทีเมื่อโพสต์เพื่อยอดไลค์และความเห็น มันเร็วและง่ายแต่แก่นสารน้อยนิด"

อดีตผู้บริหารยักษ์ใหญ่สังคมออนไลน์ออกมาแสดงความเห็นเชิงต่อต้าน ในห้วงเวลาที่หลายฝ่ายกำลังเพ่งเล็งอิทธิพลของเฟ๊ซบุ๊กอย่างไร้ขีดจำกัด ปีที่แล้วบทบาทของเฟซบุ๊กต่อการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ เป็นประเด็นใหญ่ ตามด้วยข้อกังขาถึงศักยภาพของเฟซบุ๊กในการขยายข่าวลวงโลก หรือบทบาทของเฟซบุ๊กที่ทำให้ปัญหาการฆ่าล้างชาวโรฮิงญาในเมียนมาร์ทวีความสับสน

...........................................

ที่มา : Stanford Graduate School of Business

Powered by MakeWebEasy.com