Last updated: 27 ก.ย. 2559 | 1557 จำนวนผู้เข้าชม |
FinTech คืออะไร และ ทำไมวงการการเงินในบ้านเรา ไม่ว่าจะเป็น ธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ตลาดหลักทรัพย์ บริษัทนายหน้าซื้อขายหุ้น และกลุ่มธุรกิจเกิดใหม่ กำลังตื่นตัวให้ความสนใจกันอย่างมาก บทความนี้จะพาทุกคนมาทำความรู้จักกับกระแสการเปลี่ยนแปลงในการทำธุรกรรมที่เรียกว่า Financial Technology หรือ เทคโนโลยีทางการเงิน ที่ในอนาคตจะเข้ามามีบทบาทต่อระบบการเงินในบ้านเรา ให้มากยิ่งขึ้น
สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ FinTech ถือกำเนิดขึ้น คือ ความไม่มีประสิทธิภาพและความไม่คล่องตัวบางประการในโลกการเงิน โดยช่องว่างดังกล่าว ได้เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการ FinTech นำเสนอโซลูชั่นทางการเงินใหม่ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาคอขวดที่ผู้บริโภคกำลังเผชิญอยู่ โดยการนำเทคโนโลยีในการทำธุรกรรมทางการเงินมาประยุกต์ใช้ในสอดรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป
กล่าวโดยสรุป FinTech คือ เทคโนโลยีในการทำธุรกรรมทางการเงิน หรือ กลุ่มธุรกิจเกิดใหม่ที่เน้นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและกำลังเข้ามาพลิกโฉมหน้ารูปแบบการทำธุรกรรมในภาคส่วนต่างๆ ให้ฉีกออกไปจากการทำธุรกรรมแบบเก่า ทั้งการชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ (mobile payment) การโอนเงิน (money transfer) การกู้ยืมเงิน (loan) การระดมทุน (fundraising) และ การจัดการทรัพย์สิน (asset management) โดยอาศัยความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือ IT รวมไปถึง แอพพลิเคชั่น และ สมาร์ทโฟนที่พบเห็นได้ทั่วไปในยุคดิจิทัลปัจจุบัน
จุดเด่นของ FinTech คือ การสร้างมูลค่าในรูปแบบของความง่ายต่อการใช้งาน ความสะดวกรวดเร็ว ต้นทุนหรือค่าธรรมเนียมที่ต่ำกว่า และ ความปลอดภัยในการทำธุรกรรม ทั้งนี้ ปัจจุบัน FinTech กำลังเข้ามาสั่นคลอนรูปแบบที่เงินเปลี่ยนมือจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่ง ดังนั้น เมื่อเรามองย้อนกลับไปดูสิ่งที่กลุ่มบริษัท FinTech ทำมาในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จะทำให้เราสามารถเห็นภาพทิศทางการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมใหม่ที่น่าตื่นตาตื่นใจนี้ในอนาคตอันใกล้
รายงานล่าสุดจาก Accenture พบว่า การลงทุนทั่วโลกในธุรกิจ FinTech ทะยานจากตัวเลข 930 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2008 ขึ้นไปถึง 12 หมื่นล้านเหรียญ ในช่วงต้นปี 2015 โดยยุโรป เป็นทวีปมีอัตราการเติบโตสูงที่สุด ซึ่งมีมูลค่าเพิ่มขึ้นถึง 215% ไปอยู่ที่ระดับ 1.48 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2014
ขณะที่ในเอเชีย นักลงทุนพากันลงเม็ดเงินในบริษัทเปิดใหม่ทางการเงินเป็นประวัติการณ์สูงถึง 4.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2015 มากกว่า ปี 2014 ถึง 4 เท่าตัวโดยเฉพาะจากเงินทุนมหาศาลใน อินเดีย และ จีน ซึ่งมีจำนวนประชากรมหาศาลเกินพันล้านคนและมีอัตราการใช้เทคโนโลยีใหม่สูง ทำให้บรรดาบริษัท FinTech มุ่งที่จะเข้าไปสั่นคลอนผู้เล่นที่ยึดหัวหาดมานาน เช่น ธนาคาร บริษัทประกันภัย และบริษัทบัตรเครดิต ใน 2 ประเทศนี้
นอกจากนี้ การปรับเปลี่ยนแก้ไขกฎระเบียบด้านการเงินให้สอดรับกระแสการเปลี่ยนแปลง ตลอดจนนวัตกรรมต่างๆ และ พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป (ทำธุรกรรมทางการเงินผ่านสมาร์ทโฟน) บ่งบอกทิศทางว่าตัวเลขนี้จะเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า
จากข้อมูล Fintech Adoption index ที่จัดทำขึ้นเป็นครั้งแรกโดย Ernst & Young พบว่า ฮ่องกง มีอัตราการประยุกต์ใช้ FinTech สูงสุดที่ 29.1% ของผู้บริโภคที่ใช้ช่องทางดิจิทัลทำธุรกรรมเป็นประจำ (Digitally active consumer) ตามมาด้วย สหรัฐฯ (16.5%) สิงคโปร์ (14.7%) สหราชอาณาจักร (14.3%) ออสเตรเลีย (13%) และ แคนาดา (8.2%)
FinTech สามารถจำแนกพัฒนาการออกเป็น 8 ทิศทาง คือ
1. การให้ความรู้ผู้บริโภค เพื่อส่งเสริมการจัดการเงินที่สมาร์ทยิ่งขึ้น (Smarter financial decisions)
ไม่มีใครอยากให้วิกฤตเศรษฐกิจแฮมเบอร์เกอร์เกิดขึ้นซ้ำรอยเหมือนสมัยที่องค์กรต่างๆ พากันป้อนพฤติกรรมการใช้เงินที่ไม่ดีให้ผู้บริโภค ประเด็นสำคัญในอนาคตไม่ใช่การให้วงเงินอย่างฟู่ฟ่าหรือบัตรเครดิตฟรีๆ แต่เป็นการช่วยผู้บริโภคให้สามารถตัดสินใจเกี่ยวกับการบริหารจัดการเงินได้อย่างชาญฉลาดมากยิ่งขึ้น ส่งเสริมการเก็บออมเงินและนำเสนอกลยุทธ์การลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่น่าพอใจและเข้าใจได้ง่าย
Planwise เป็น 1 ในธุรกิจที่ช่วยให้ผู้บริโภคก้าวไปถึงจุดหมายนั้น โดยอาศัยเครื่องมือและการให้ความรู้ที่ช่วยให้ผู้บริโภคสามารถประเมินสถานะการเงินนของตัวเอง รวมทั้งให้คำแนะนำในการปรับปรุงพฤติกรรมการใช้จ่ายส่วนบุคคล ขณะที่ NerdWallet แจกจ่ายคำแนะนำและข้อมูลมากมายแบบฟรีๆ ช่วยให้ผู้บริโภคสามารถตัดสินใจเรื่องการใช้จ่ายเงิน กู้ยืมและออมเงินได้ดียิ่งขึ้น นับเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับผู้บริโภควัยหนุ่มสาวที่กำลังคิดกู้ยืมเงินและอาจมีหนี้สินในอนาคต
2. การให้ความช่วยเหลือด้านการปฏิบัติตามกฎระเบียบ (Compliance assistance)
ธนาคารต่างๆ ต้องเผชิญกับกฎระเบียบข้อบังคับมากขึ้น ทั้งการทำธุรกรรมออฟไลน์และออนไลน์ เนื่องจากความไม่รอบคอบที่ผ่านมา ส่งผลให้สถาบันและบริษัทต่างๆ มีภาระงานเพิ่มขึ้นในการปฏิบัติตามกฎข้อบังคับต่างๆ นอกจากนี้ ภัยจากการฉ้อโกงระหว่างประเทศและการขโมยอัตลักษณ์ยังคงสร้างความกดดันให้สถาบันการเงินทั้งหลายอย่างต่อเนื่อง ด้วยเหตุนี้ บริษัทอย่าง Trulioo จึงเสาะหาโซลูชั่นใหม่ๆ ช่วยให้สถาบันและบริษัทการเงินสามารถบูรณาการทิศทางการปฏิบัติตามกฎใหม่ๆ กับซอฟต์แวร์ประมวลผลธุรกรรมได้อย่างลงตัว แม้แต่กลุ่มธุรกิจ FinTech เอง ประเด็นด้านการปฏิบัติตามกฎระเบียบ โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา ถือเป็นภาระหนักที่ยังคงตั้งโจทย์ท้าทายเรื่อยมาจนกระทั่งปี 2016 หลายบริษัทมุ่งมั่นหาโซลูชั่นที่จะช่วยรับมือความท้าทายเหล่านี้ให้ง่ายยิ่งขึ้น
3. การยกระดับประสบการณ์ซื้อของออนไลน์ (Online shopping experience)
ปัจจุบัน ผู้บริโภคทราบถึงภัยจากการขโมยอัตลักษณ์อย่างแพร่หลายมากขึ้น เป็นเหตุให้พวกเขามองหาประสบการณ์การชอปปิ้งออนไลน์ที่สะดวกรวดเร็วและปลอดภัยยิ่งขึ้น ตลาดนี้มีแนวโน้มเติบโตต่อไปเรื่อยๆ เนื่องจากประชากรหลายพันล้านคนจะเข้าถึงการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตได้อย่างทั่วถึงเพิ่มขึ้นใน 5 ปีข้างหน้า จึงเป็นที่มาของการถือกำเนิดบริษัทอย่าง Stripe ที่ช่วยทำให้สภาพแวดล้อมของการทำธุรกรรมค้าปลีกง่ายและปลอดภัยต่อทั้งผู้ค้าและผู้บริโภค อีกทั้งยังสามารถนำเสนอประสบการณ์ที่ลูกค้าต้องการระหว่างการเลือกซื้อสินค้า นอกจากนี้ WePay และ Flint ยังให้ความช่วยเหลือด้านการรับชำระเงินและการใช้จ่ายแบบ Retail ด้วย
4. การเพิ่มทางเลือกใหม่ในการจับจ่ายใช้สอย (Payment options)
ยิ่งธุรกรรมมีความเป็นสากลและเกิดในโลกออนไลน์มากขึ้น ผู้บริโภคและเจ้าของธุรกิจขนาดเล็ก ยิ่งจำเป็นต้องอาศัยแนวทางที่หลากหลายในการรับชำระและจ่ายเงินให้ผู้เกี่ยวข้อง อัตราแลกเปลี่ยน การโอนเงิน หรือ PayPal ไม่ได้เป็นตัวเลือกหลักของผู้บริโภคอีกต่อไป เพราะ FinTech โซลูชั่นกำลังพลิกโฉมสารบบของการชำระเงิน เช่น Epiphyte ช่วยให้วงการการเงินก้าวข้ามสกุลเงินที่มีความแตกต่างหลากหลายด้วยการนำเสนอ Bitcoin ระบบชำระเงินดิจิทัล หลายคนมีความหวังว่าธุรกิจจะยอมรับการชำระเงินรูปแบบนี้มากขึ้น Tipalti ถือเป็นอีกตัวอย่างของโซลูชั่นที่ช่วยให้บริษัทต่างๆ ปรับใช้ระบบการจ่ายเงินให้เข้ากับกระบวนการขององค์กรได้ง่ายขึ้น ลดค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมลง และ คอยแจ้งข่าวสารใหม่ๆ เกี่ยวกับภาษีและกฎระเบียบ
5. การนำเสนอช่องทางกู้ยืมเงินแบบใหม่ (New avenues for loans)
การเปลี่ยนแปลงในตลาดกู้ยืมเงิน มีผลให้ผู้บริโภคและธุรกิจขนาดเล็กจำนวนมากประสบปัญหาในการเสาะหาเงินทุน เนื่องจากธนาคารไม่ยินดีปล่อยสินเชื่อรายย่อย หรือ ขึ้นบัญชีดำลูกค้าที่เป็นเจ้าของกิจการเอง เนื่องจากปัญหากู้ยืมในอดีต ดังนั้น ความไม่เต็มใจของสถาบันการเงินบางแห่งที่จะช่วยเหลือลูกค้ากลุ่มนี้ จึงสร้างโอกาสมากมาย ให้บริษัท FinTech เข้ามาเติมเต็มช่องว่างนี้
LendUp ช่วยให้ผู้บริโภคไม่ต้องพึ่งพาบริการกู้ยืมเงิน เพื่อขอสินเชื่อก้อนเล็ก และหันไปพึ่งพันธมิตรในโลกออนไลน์แทน แม้แต่บริษัทอย่าง SoFi หยิบยื่นความช่วยเหลือให้ผู้บริโภคและธุรกิจต่างๆ ในการรีไฟแนนซ์เงินกู้ก้อนเดิม ไปจนถึง เงินกู้เพื่อการศึกษา และ การจำนอง ในอัตราดอกเบี้ยที่เอื้ออำนวยกว่าและยังช่วยยกระดับสถานะทางการเงินด้วย นอกจากเว็บไซต์ระดมทุนในรูปแบบ crowdfunding ที่โด่งดังหลายแห่ง ไอเดีย FinTech ใหม่ๆ ยังถือกำเนิดจากคอนเซปต์ดั้งเดิม ไปจนถึงแพลตฟอร์มทันสมัยอย่าง LendFriend ที่ซึ่งผู้คนสามารถยืมและให้กู้ยืมเงินแก่คนรู้จัก นับเป็นอีกหนึ่งรูปแบบใหม่ของการกู้ยืมเงิน
6. การชำระเงินและเรียกเก็บเงินรวดเร็ว (Speed payments and collections)
ธุรกิจต่างๆ ล้วนไม่ต้องการให้เงินเข้ามาเป็นอุปสรรคในความสัมพันธ์อันดีทางธุรกิจ แต่บ่อยครั้ง ใบแจ้งหนี้มักไม่มีการชำระ สำหรับเจ้าของธุรกิจขนาดเล็ก การเรียกเก็บเงินถือเป็นความท้าทาย อย่างไรก็ตาม บริษัท FinTech หน้าใหม่หลายรายกำลังช่วยธุรกิจจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ให้ได้รับการจ่ายเงินที่รวดเร็วขึ้น ผู้เล่นอย่าง Invoice Ninja นำเสนอโซลูชั่นที่ช่วยเหลือธุรกิจขนาดเล็กสำหรับการเรียกเก็บเงิน เพื่อเพิ่มยอดรายได้ต่อเดือน นอกจากนี้ iZettle เป็นผู้เล่นที่เอื้อให้ธุรกิจขนาดเล็กในยุโรป ลดการเสียโอกาสจากการไม่รับบัตรเครดิต เมื่อพบว่า ธุรกิจรายย่อยถึง 20 ล้านรายในภูมิภาค ไม่รับการชำระด้วยบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิต โดยเปลี่ยนสมาร์ทโฟนให้รับการชำระด้วยบัตร แทนการขอเครื่องรูดบัตร ช่วยลดอุปสรรคด้านต้นทุนในส่วนนี้ลงไปได้
7. การคุ้มครองทรัพย์สินจากภัยฉ้อโกง (Asset protection)
ผู้กระทำการฉ้อโกงเงินมักเป็นกลุ่มคนที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมากกว่าผู้อื่น มองเห็นช่องทางในการกอบโกยเข้ากระเป๋าตนเอง ด้วยเหตุนี้ ในอนาคตอันใกล้ FinTech จำเป็นต้องเสาะหาหนทางต่อสู้กับการก่ออาชญากรรมเหล่านี้อย่างไม่ลดละ โดยอาศัยเทคโนโลยีการคุ้มครองทรัพย์สิน รวมไปถึงการพัฒนาเทคโนโลยียืนยันตัวบุคคลที่มีความก้าวหน้ากว่าในปัจจุบัน เพื่อสร้างความปลอดภัยให้แก่ลูกค้า e-commerce ธนาคาร และผู้ให้บริการจ่ายเงินออนไลน์และกู้ยืมเงิน
หนึ่งในประเด็นที่ยังคงเป็นโจทย์ท้าทายบรรดาบริษัทคุ้มครองทรัพย์สิน คือ การทำธุรกรรมผ่านระบบ Automated Clearing House (ACH) ของสหรัฐอเมริกา เช่น การโกงบัตรเครดิตที่ต้องใช้เวลาหลายเดือนในการติดตามคืน และเนื่องด้วยข้อเท็จริงที่ผู้กระทำการฉ้อโกง ยังคงนำหน้าสถาบันต่างๆ ในประเด็นนี้ จึงเป็นโอกาสให้บริษัท FinTech รายใหม่ๆ เข้ามามีบทบาทในการเอาชนะอาชญากรและช่วยผู้บริโภคปกป้องรักษาทรัพย์สินเอาไว้
8. ส่งเสริมการลงทุน (Investment)
ปัญหาชื่อเสียงของบริษัทการลงทุนที่ตกต่ำค่าธรรมเนียมที่สูงเกินไป ค่าธรรมเนียมแอบแฝง ตลอดจน คำแนะนำที่ส่งผลในแง่ลบต่อการลงทุน ทำให้ผู้บริโภคหลายรายขาดความมั่นใจในการลงทุน ด้วยเหตุนี้ บริษัท FinTech อย่าง Wealthfront Robinhood และ Addepar จะถือกำเนิดตามมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยเหลือแม้แต่นักลงทุนรายย่อย ให้มีความมั่นใจที่จะกลับเข้าสู่ตลาดการลงทุนอีกครั้ง
ยกตัวอย่าง Acorns กำลังพิสูจน์ให้นักลงทุนทั่วไปหรือนักลงทุนมือใหม่ ตระหนักว่าเงินทอนเพียงเล็กน้อย เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการสร้างพอร์ตการลงทุนที่จะให้ผลตอบแทนที่น่าดึงดูดใจในอนาคต บริษัทเหล่านี้สามารถเปลี่ยนตลาดการลงทุนแบบพลิกฝ่ามือ ทั้งยังก่อให้เกิดความสนใจใหม่ๆ ในหุ้นและกองทุนรวม
ธนาคารและองค์กรต่างๆ ยังคงลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อตอบรับความท้าทายด้านการเงิน Statista คาดการณ์ว่า นักลงทุนจะลงเม็ดเงินเกือบ 2 หมื่นล้านเหรียญในปี 2017 เฉพาะในแถบอเมริกาเหนือเท่านั้น ยิ่งไปกว่านั้น บริษัทต่างๆ จะให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการทั่วโลกเช่นกัน เจ้าของธุรกิจขนาดเล็ก ผู้บริโภค และชุมชนการลงทุนจะสามารถบรรลุเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำการตัดสินใจทางการเงินได้อย่างถูกต้องแม่นยำขึ้น ตลอดจนปรับจูนการทำงานขององค์กรได้อย่างเหมาะสม
จากแนวโน้มข้างต้นทั้งหมดนี้ บริษัท FinTech จะยังคงเดินหน้าแก้ไขปัญหาคอขวดใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในวงการการเงินและการลงทุนต่อไป โดยนำเสนอโซลูชั่นแนวใหม่เพื่อตอบสนองความต้องการเหล่านั้น
หน่วยงาน/องค์กรของท่านจะรับมือกับกระแสการเปลี่ยนแปลงที่ขับเคลื่อนโดย FinTech อย่างไร
การปรับตัวในเชิงองค์กรเพื่อตอบสนองระลอกคลื่นกระแสการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องอาศัยกระบวนการมองอนาคต (Foresight) และ การวางแผนเชิงกลยุทธ์ (Strategic planning) เพื่อให้องค์กรสามารถกำหนดทิศทางเป้าหมายและบ่งชี้แนวทางการดำเนินงาน ให้มีความเกี่ยวเนื่องกับกลุ่มเป้าหมายขององค์กรที่ไม่หยุดนิ่ง (Relevant) คำนึงถึงความเป็นไปได้ในอนาคตในการวางแผน (Future-proof) เสริมสร้างความยั่งยืน (Sustainable) และ ครอบคลุมเงื่อนเวลาในระยะยาว (Long-term)
ที่มา http://www.noviscape.com/visionscape/fintech-คืออะไร/
13 ก.พ. 2561
12 มี.ค. 2561
13 ก.พ. 2561
13 ก.พ. 2561