Last updated: 6 พ.ย. 2560 | 921 จำนวนผู้เข้าชม |
"พระสมาธิ" ของ "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙"
"พระสมาธิ" ของ "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙" โดย "พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร"
ผมไม่ทราบว่าพระเจ้าอยู่หัวทรงริเริ่มฝึกสมาธิตั้งแต่เมื่อใด แต่สันนิษฐานว่าคงจะเริ่มในเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๙ เมื่อทรงผนวชที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
หลังจากทรงผนวชแล้ว ประทับจำพรรษา อยู่ที่พระตำหนักปั้นหยา วัดบวรนิเวศวิหาร ทรงอยู่ในสมณเพศเป็นเวลา ๑๕ วัน ครั้งนั้น "สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์" ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์จารย์
ทรงเลือก "สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก" (เมื่อครั้งยังเป็นพระโสภณคณาภรณ์) ให้เป็นพระอภิบาล (พระพี่เลี้ยง) ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
เป็นที่ทราบกันดีว่า แม้จะทรงมีเวลาน้อย แต่พระเจ้าอยู่หัวก็ทรงศึกษาและปฏิบัติตามพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด และคงจะได้ทรงฝึก #เจริญพระกรรมฐาน ในโอกาสนั้นด้วย
เมื่อผมเข้าไปเป็นนายตำรวจราชสำนักในปี พ.ศ. ๒๕๑๓ ปรากฏว่าการศึกษาและปฏิบัติสมาธิหรือกรรมฐานในราชสำนักกำลังดำเนินอยู่แล้ว
พระเจ้าอยู่หัวทรงปฏิบัติเป็นประจำ และข้าราชสำนัก ข้าราชบริพารหลายคน ทั้งฝ่ายพลเรือนและทหารก็กำลังเจริญรอยพระยุคลบาทอยู่ ด้วยการ #ฝึกสมาธิ อย่างขะมักเขม้น
ผมไม่ได้ตั้งใจจะหัดสมาธิ แม้จะเคยศึกษามาก่อนโดยเฉพาะจากหนังสือของ "ท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุ"
แต่ระหว่างการตามเสด็จฯ โดยรถไฟจากกรุงเทพมหานครไปอำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๕ การเดินทางไกลกว่าที่ผมคาดคิด หนังสือเล่มเดียวที่เตรียมไปอ่านฆ่าเวลาบนรถไฟ ก็อ่านจบเล่มเสียตั้งแต่กลางทาง
ขณะนั้นผมเห็นนายทหารราชองครักษ์ประจำ ที่ปฏิบัติหน้าที่ถวายความปลอดภัย ๒ นาย ใช้เวลาว่างนั่งหลับตาทำสมาธิ ผมจึงลองทำดูบ้างโดยใช้ #อานาปานสติ ปรากฏว่าจิตสงบเร็วกว่าที่ผมคาด
แลเห็นนิมิตเป็นภาพสีสวยๆ งามๆมากมาย และเป็นเวลาค่อนข้างนานด้วย
ตั้งแต่นั้นมาผมก็ติดสมาธิ และกลายเป็นอีกผู้หนึ่งที่ปฏิบัติสมาธิเป็นประจำมาจนทุกวันนี้
เมื่อความทราบถึงพระกรรณว่าผมเริ่มปฏิบัติสมาธิ พระเจ้าอยู่หัวทรงกรุณาพระราชทานหนังสือ และแถบบันทึกเสียงคำสอนของครูบาอาจารย์ต่างๆ ลงมา และบางครั้งก็ทรงพระกรุณาพระราชทาน
พระราชดำรัสแนะนำด้วยพระองค์เอง
ผมจึงได้รู้ว่า #พระสมาธิของพระเจ้าอยู่หัวนั้นก้าวหน้าไปแล้วเป็นอันมาก
รับสั่งเล่าเองว่าแม้จะทรงใช้อานาปานสติเป็นอุบายในการทำสมาธิ แต่พระเจ้าอยู่หัวก็ไม่ทรงสามารถที่จะกำหนดพระอัสสาสะ (ลมหายใจเข้า)
และพระปัสสาสะ (ลมหายใจออก) ได้แต่ลำพัง ต้องทรงนับกำกับ
"วิธีนับ" ของพระเจ้าอยู่หัวนั้น ทรงทำดังนี้...
หายใจเข้าครั้งที่หนึ่ง นับหนึ่ง
หายใจเข้าครั้งที่สอง นับสอง
หายใจเข้าครั้งที่สาม นับสาม
หายใจเข้าครั้งที่สี่ นับสี่
หายใจเข้าครั้งที่ห้า นับห้า
หายใจออกครั้งที่หนึ่ง นับหนึ่ง
หายใจออกครั้งที่สอง นับสอง
หายใจออกครั้งที่สาม นับสาม
หายใจออกครั้งที่สี่ นับสี่
หายใจออกครั้งที่ห้า นับห้า
เมื่อถึงห้าแล้ว... หากจิตยังไม่สงบก็นับถอยหลังจาก (ห้า<ลงมาหา<หนึ่ง) แล้วนับจาก (หนึ่ง>ขึ้นไปหา>ห้า ใหม่) กลับไปกลับมาเช่นนั้นจนกว่าจิตจะสงบ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รับสั่งว่าที่เห็นพระองค์ประทับอยู่นิ่งๆนั้น พระจิตทรงกำลังอยู่กับหนึ่ง เข้า ~ หนึ่ง ออก ตลอดเวลา
พระเจ้าอยู่หัวทรงศึกษาเรื่องสมาธิด้วยการรวบรวมและประมวลคำสอนของครูบาอาจารย์ทุกท่านแล้วก็ทรงพระกรุณาพระราชทานประมวลคำสอนแก่ผู้ที่ทรงทราบว่ากำลังปฏิบัติสมาธิอยู่
ครั้งหนึ่ง... ทรงพระกรุณาพระราชทานแถบบันทึกเสียงของสมเด็จพระญาณสังวรฯให้ผมด้วย พระเจ้าอยู่หัวรับสั่งว่าเป็นบันทึกเสียงการแสดงธรรมเรื่องฉฉักกสูตร (คือพระสูตรว่าด้วยธรรมะ หมวด ๖ รวม ๖ ข้อ ซึ่งอธิบายความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ และความไม่มีตัวมีตนของสิ่งต่างๆ มีอายตนะภายนอก อายตนะภายใน วิญญาณ ผัสสะ เวทนา และตัณหา พระสูตรนี้เหมาะสำหรับผู้ที่ศึกษาและปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน) และทรงแนะนำให้ผมฟังธรรมบทนั้น
เมื่อผมรับพระราชทานแถบบันทึกเสียงมาแล้ว ก็เอาไปใส่เครื่องบันทึกเสียงและเปิดฟัง ฟังไปได้ไม่ทันหมดม้วนก็ปิด แล้วก็เก็บเอาไว้ไม่ได้ฟังอีก
หลังจากนั้นไม่นานนัก ได้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท พระเจ้าอยู่หัวมีพระราชกระแสรับสั่งถามว่า "ฟังเทปของสมเด็จพระญาณสังวรแล้วหรือยัง เป็นอย่างไร?"
ผมไม่อาจจะกราบบังคมทูลความเป็นเท็จได้ ต้องกราบบังคมทูลตรงๆว่า "ฟังได้ไม่ทันจบม้วนก็ได้หยุดฟังเสียงแล้ว"
พระเจ้าอยู่หัวตรัสถามต่อไปถึงเหตุผลที่ผมไม่ฟังให้จบ และผมก็จำเป็นต้องกราบบังคมทูลตรงๆว่า
สมเด็จพระญาณสังวรท่านเทศน์ฟังไม่สนุก พูดขาดเป็นวรรคๆ เป็นห้วงๆ เนื่องจากสมเด็จฯ พิถีพิถันในการใช้ถ้อยคำและประโยคเทศน์ของท่านนั้น ถ้าเอามาพิมพ์ก็จะอ่านได้สบายกว่าฟัง
พระเจ้าอยู่หัวตรัสถามว่าที่ฟังสมเด็จฯเทศน์ไม่รู้เรื่องนั้น ก็เพราะคิดไปก่อนหรือไม่ว่าสมเด็จฯ ท่านจะพูดว่าอย่างนั้นอย่างนี้ ครั้นท่านพูดช้ากว่าที่คิด หรือพูดออกมาแล้วไม่ตรงกับที่คาดหมายจึงเบื่อ
เมื่อผมนิ่งไม่กราบบังคมทูลตอบ ก็ทรงแนะนำว่าให้กลับไปฟังใหม่ คราวนี้อย่าคิดไปก่อนว่าสมเด็จฯจะพูดว่าอย่างไร สมเด็จฯหยุดก็ให้หยุดด้วย
ผมกลับมาทำตามพระราชกระแสรับสั่ง เปิดเครื่องบันทึกเสียงฟังเทศน์ของสมเด็จฯ จากแถบบันทึกเสียงม้วนนั้นใหม่ตั้งแต่ต้น ฟังด้วยสมาธิ สมเด็จฯหยุดตรงไหน ผมก็หยุดตรงนั้น และไม่คิดไปก่อนว่าสมเด็จฯจะพูดว่าอย่างไร
คราวนี้ผมฟังได้จนจบ และเห็นว่าจริงดังพระราชดำรัส แถบบันทึกเสียงม้วนนั้น เป็นม้วนที่ดีที่สุดม้วนหนึ่ง
ครั้งหนึ่ง หลังจากที่นั่งสมาธิแล้ว ผมได้มีโอกาสเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท และกราบบังคมทูลประสบการณ์ที่ได้ขณะทำสมาธิ
ผมกราบบังคมทูลว่า "ขณะที่นั่งสมาธิครั้งนั้น รู้สึกว่าตัวเองลอยขึ้นจากพื้นสูงราว ๑ ศอก ทีแรกก็ยังไม่รู้สึกอะไร แต่ครั้นหัวเริ่มคล้อยลงไปข้างหน้า
ทำท่าเหมือนจะตีลังกา ผมก็ตกใจและต้องเลิกทำสมาธิ"
พระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชวิจารณ์ว่า "ถ้าหากสติยังอยู่ ยังรู้ตัวว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น ก็ไม่ควรจะเลิก" แต่ควรจะปล่อยให้เป็นไปตามสภาพนั้น
อีกครั้งหนึ่ง... หลังจากทำสมาธิแล้ว ผมกราบบังคมทูลว่าพอจิตสงบผมรู้สึกว่าตัวเองกำลังเลื่อนต่ำลงไปในท่อขนาดใหญ่ และที่ปลายท่อข้างล่างผมแลเห็นแสงสว่างเป็นจุดเล็กๆ แสดงว่าท่อยาวมาก กลัวจะหลุดออกจากท่อไป ผมก็เลยเลิกทำสมาธิ
รับสั่งเช่นเดียวกันว่าหากยังรู้ตัว (มีสติ) ก็ไม่ควรเลิก ถึงหากจะหลุดออกนอกท่อไปก็ไม่เป็นไร
ตราบเท่าที่สติยังอยู่ และรู้ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นกับตน
ต่อมา... ภายหลังจากการศึกษาคำสอนของครูบาอาจารย์ทุกท่าน โดยเฉพาะของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ตรัสสอนให้ "ดำรงสติให้มั่น" ในเวลาทำสมาธิ
ในส่วนที่เกี่ยวกับพระสมาธิของพระเจ้าอยู่หัว เคยตรัสเล่าให้ผมฟังว่าครั้งหนึ่งขณะที่กำลังทรงทำสมาธิอยู่ พระจิตสงบและเกิดนิมิต ในนิมิตนั้นพระเจ้าอยู่หัวทรงทอดพระเนตรเห็นพระกร (แขนท่อนล่าง) ลอกออกทีละชั้นๆ ตั้งแต่จากพระตจะ (หนัง) ลงไปจนถึงพระอัฐิ (กระดูก)
พระเจ้าอยู่หัวทรงประยุกต์พระสมาธิ ในการประกอบพระราชกรณียกิจทุกอย่างทั้งน้อยและใหญ่ จึงทรงสามารถเผชิญกับพระราชภาระอันหนักในตำแหน่งพระมหากษัตริย์ได้
โดยไม่ทรงสะทกสะท้านหรือหวั่นไหว ไม่ทรงคาดการณ์ล่วงหน้าไปไกลๆอย่างเลื่อนลอยและเปล่าประโยชน์ ไม่ทรงอาลัยอดีตหรืออนาคต ไม่ทรงเสียเวลาหวั่นไหวไปกับความสำเร็จหรือความล้มเหลว อันเป็นเรื่องที่ผ่านพ้นไปแล้ว
แต่ทรงจดจ่ออยู่กับปัจจุบัน ทรงสนพระราชหฤทัยอยู่แต่กับพระราชกรณียกิจเฉพาะพระพักตร์เท่านั้น
ในฐานะที่เกิดมาเป็นพลเมืองของประเทศ ที่มีพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นี้เป็นพระประมุข และในฐานะที่ทุกคนมีหน้าที่ในการทำนุบำรุงเมืองไทยนี้ให้เป็นที่ร่มเย็นของเรา และของลูกหลานของเรา
จึงสมควรที่เราจะเจริญรอยประพฤติตามพระยุคลบาท ด้วยการศึกษาและปฏิบัติสมาธิกันอย่างจริงจัง และนำสมาธิมาประยุกต์ในการดำเนินชีวิต
เช่นเดียวกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเรา
# คัดลอกจาก Facebook ทำได้ ได้ทำ
# เครดิต ลมหายใจ แห่งสติ
13 มี.ค. 2561
13 มี.ค. 2561
13 มี.ค. 2561
13 มี.ค. 2561