จุดจบของธนาคารสู่การเรืองอำนาจของเงินเสมือนจริง?

Last updated: 18 ม.ค. 2561  |  1170 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ในอนาคตเทคโนโลยีจะมาแทนที่เงินตราที่เราใช้กันอยู่ในชีวิตประจำวัน หรือสถาบันการเงินที่เป็นตัวกลางในการทำธุรกรรมทางการเงินที่เราคุ้นเคยอาจจะหายไป และแน่นอนว่า ยังเป็นเรื่องที่ยากจะเชื่อในกลุ่มผู้นำและผู้บริหารด้านการเงินการธนาคารระดับสูง ซึ่งก็คล้ายกับการที่ผู้นำและผู้บริหารในอุตสาหกรรมสื่อจะไม่มีทางเชื่อว่า หนังสือพิมพ์, หนังสือวารสาร, ฟิล์ม และการแพร่ภาพและเสียงแบบดั้งเดิม จะถูกแทนที่โดย social media, Big Data และ AI

และเมื่อไม่นานมานี้มีผู้เชี่ยวชาญได้ออกมาคาดการณ์ว่าจะไม่มีการใช้งานคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลอีกต่อไป และแทบเล็ตก็อาจจะมีการใช้งานลดลงไปอย่างมาก ดังนั้นเราจึงไม่ควรมองข้ามเรื่องของเงินเสมือนจริง (virtual currencies) หรือเงินดิจิทัลอีกต่อไป

ซึ่งเงินดิจิทัล ไม่ได้เป็นเรื่องเกี่ยวกับการจ่ายเงินด้วยเงินตราที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ ไม่ว่าจะผ่าน Paypal หรือ e-money ที่มีผู้ให้บริการมากมาย เช่น Alipay ในประเทศจีน หรือ M-Pesa ในเคนย่า แต่เงินเสมือนจริงมีอยู่หลายรูปแบบ ทั้งนี้เพราะเป็นการให้บริการในระบบการชำระเงินของตัวเอง โดยระบบเหล่านี้ทำให้เราสามารถทำธุรกรรมกันได้โดยตรงระหว่างคอมพิวเตอร์ (peer-to-peer) โดยไม่ต้องมีตัวกลาง หรือแม้แต่ธนาคาร

ในปัจจุบัน เงินดิจิทัลอย่างเช่น Bitcoin ยังคงไม่ได้เป็นสิ่งที่ท้าทายมากนักสำหรับสกุลเงินในปัจจุบัน หรือแม้กระทั่งต่อธนาคาร นั่นก็เพราะนักการเงินการธนาคารส่วนใหญ่ยังมองว่ามันมีความผันผวนมากเกินไปและมีความเสี่ยงเกินไป (อาจประเมินค่าของมันต่ำไป) และเทคโนโลยีพื้นฐานก็ยังไม่สามารถปรับขยายขนาดให้รองรับการใช้งานที่มากขึ้นได้ แถมทั้งหน่วยงานกำกับดูแลยังไม่สามารถดูแลได้ทั่วถึง และก็ยังมีคำถามว่ามันมีโอกาสที่จะถูกแฮ็กได้หรือไม่ (ซึ่งมักจะเป็นคำถามจากคนที่ไม่เข้าใจเทคโนโลยี Blockchain) แต่ทั้งหมดนี้ต่างเป็นเรื่องความท้าทายทางเทคโนโลยีที่ในที่สุดจะสามารถจัดการได้ในอนาคตอันใกล้

ลองนึกถึงประเทศที่มีสถาบันการเงินที่อ่อนแอและมีสกุลเงินที่ไม่มั่นคง เช่น ประเทศเวเนซุเอลา ซึ่งแทนที่จะใช้สกุลเงินของประเทศอื่น เช่น เงินดอลลาร์ของสหรัฐอเมริกา แต่เรากลับจะเห็นมีการเติบโตขึ้นของการใช้เงินดิจิทัลในประเทศเหล่านี้ (รวมทั้ง Bitcoin) ที่อาจจะเรียกว่า “dollarization 2.0”

และทำไมประชาชนจึงถือเงินดิจิทัลมากกว่าเงินที่จับต้องได้จริงๆ อย่างดอลลาร์สหรัฐหรือยูโรหรือปอนด์สเตอริง ซึ่งนั่นก็เพราะว่าอาจจะง่ายและปลอดภัยมากกว่าที่จะถือเงินกระดาษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ห่างไกล และก็เพราะในที่สุดแล้วเงินดิจิทัลจะมีความเสถียรมากยิ่งขึ้นนั่นเอง

ซึ่งเทคโนโลยีในปัจจุบันก็สามารถสร้างระบบตะกร้าเงินที่มีเสถียรภาพ การออกธนบัตรที่โปร่งใสที่ควบคุมโดยกฎที่น่าเชื่อถือและมีการกำหนดไว้ล่วงหน้า มีอัลกอริทึมที่สามารถตรวจสอบได้ด้วย "กฎอัจฉริยะ" ที่อาจสะท้อนถึงสภาพทางเศรษฐกิจมหภาคที่เปลี่ยนแปลงไป

จากการเพิ่มขึ้นของบริการการชำระเงินรูปแบบใหม่ในหลายประเทศ ที่ทำให้เศรษฐกิจแบบกระจายศูนย์ (Decentralized) และแบ่งปันกัน (Sharing) ได้เริ่มเกิดขึ้นอย่างเด่นชัด โดยเป็นรากฐานของการทำธุรกรรมระหว่างคอมพิวเตอร์ (peer-to peer) ที่มักจะเป็นจำนวนเงินไม่มาก แต่เกิดขึ้นบ่อยๆ และมักจะเกิดขึ้นข้ามประเทศ

การจ่ายเงินเล็กๆน้อยๆ อย่างเช่น การจ่ายทิป, ค่าแท็กซี่ ซึ่งการชำระเงินเหล่านี้สามารถจ่ายได้ด้วยบัตรเครดิตหรือจ่ายด้วย e-money อื่นๆ แต่ก็จะมีค่าธรรมเนียมในการชำระเงินที่ค่อนข้างสูงสำหรับการทำธุรกรรมด้วยจำนวนเงินไม่มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการโอนเงินข้ามประเทศ ซึ่งถือว่าไม่คุ้มค่าสำหรับผู้บริโภค

อย่างไรก็ตามเริ่มมีแนวโน้มว่า ผู้คนอาจจะชอบใช้เงินดิจิทัลที่เป็นเงินเสมือนจริงมากกว่า เพราะมีต้นทุนและความสะดวกเช่นเดียวกับเงินสด ไม่มีเรื่องความเสี่ยง ไม่ต้องรอเคลียริ่ง ไม่มีหน่วยงานกลาง ไม่ต้องมีคนกลางมาตรวจสอบบัญชีและตัวตน

ดังนั้น เมื่อเศรษฐกิจบริการรูปแบบใหม่นี้กำลังจะมาถึงแล้ว คุณจะยินดีต้อนรับหรือไม่? ซึ่งเรื่องที่ควรจะต้องพิจารณาต่อไปคือ รูปแบบใหม่ของธุรกรรมทางการเงิน ซึ่งความเป็นไปได้อย่างหนึ่งคือการให้บริการด้านการธนาคารอาจจะเปลี่ยนไป (หายไป) โดยจะเกิดการลงทุนในแพลตฟอร์มการให้สินเชื่อระหว่างคอมพิวเตอร์ (peer-to-peer) โดยมีการใช้ Blockchain, Big Data และปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการพิจารณาให้สินเชื่อโดยอัตโนมัติ ซึ่งเป็นปกติของวงจรการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงทุกๆ 6 เดือน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับซอฟต์แวร์ที่มีการพัฒนาให้ใช้ง่ายขึ้นและมีความมั่นคงปลอดภัยที่เชื่อถือได้ ในโลกที่ข้อมูลมีค่ายิ่งกว่าทอง และในโลกของผู้เล่นใหม่ๆ ที่กำลังเกิดขึ้นมากมายที่ไม่ต้องมีตัวกลาง เช่น ธนาคารที่มีสำนักงานสาขาอีกต่อไป

Reference
https://www.investopedia.com/…/6-most-important-cryptocurr…/

http://www.bbc.com/news/world-latin-america-42217798

https://fee.org/…/imf-head-predicts-the-end-of-banking-and…/

------------------

พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ
กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

ประวัติ: http://www.xn--42cf0a8cxa3ai5ple.com/?p=165

8 ธันวาคม 2560
www.เศรษฐพงค์.com

Powered by MakeWebEasy.com