ญี่ปุ่น สังคมที่กลืนกินตัวเอง

Last updated: 13 ก.พ. 2561  |  1572 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ญี่ปุ่น สังคมที่กลืนกินตัวเอง

โดย ปิยมิตร ปัญญา piyamitara@gmail.com


ในแวดวงวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์มีคำศัพท์ใหม่เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้งตามพลังพลวัตทางเศรษฐกิจที่ไม่เคยหยุดนิ่งทั่วโลก ในยามที่ประเทศครึ่งหนึ่งของโลกเกิดปัญหาเศรษฐกิจระดับวิกฤต ศัพท์คำหนึ่งถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณาครั้งแล้วครั้งเล่า พยายามศึกษาทำความเข้าใจ ไม่ใช่ด้วยความคาดหวัง ไม่ใช่ด้วยอารมณ์คึกคัก ทะเยอทะยาน แต่เปี่ยมด้วยความหวั่นกลัว หวาดผวาว่าสภาวะดังกล่าวจะเกิดขึ้นกับสังคมของตนเอง

"แจแปนิฟิเคชั่น-Japanification"เป็นอย่างญี่ปุ่น? ฟังดูเรียบง่าย ไม่มีพิษภัย ทำไมต้องหลีกหนี ทำไมต้องไม่เป็นอย่างที่ญี่ปุ่นกำลังเป็นอยู่ในเวลานี้?

ญี่ปุ่น คือตัวอย่างของประเทศหนึ่งซึ่งเกิดการพลิกผันของชะตากรรมเชิงเศรษฐกิจอย่างรุนแรงและยาวนานชนิดที่น้อยประเทศนักจะพบพานในประวัติศาสตร์โลกร่วมสมัยครั้งหนึ่ง ญี่ปุ่น คือตัวอย่างของ "ความสำเร็จแห่งเอเชีย" ผู้คนจากดินแดนแห่งอาทิตย์ยามอุทัยแห่งนี้มีวิถีและรูปแบบของการใช้ชีวิตเป็นที่อิจฉา ริษยาของผู้คนทั่วโลก

ทศวรรษ 1980 คือทศวรรษที่ญี่ปุ่นกลายเป็นชาติแรกจากเอเชียที่มีศักยภาพเกินพอต่อการท้าทายการครอบงำทั้งโลกที่อยู่ในกำมือของชาติตะวันตกมายาวนาน

แม้กระทั่งในปี 1991 นักเศรษฐศาสตร์หลายคนยังพากันคาดการณ์ว่า ภายในทศวรรษแรกของศตวรรษใหม่ นั่นคือในปี 2010 ญี่ปุ่นจะผงาดขึ้นเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกแทนที่สหรัฐอเมริกา นักธุรกิจญี่ปุ่นยืดอกอย่างทะนงรับรู้นิยามที่ผู้คนในแวดวงเดียวกันจากทั่วโลกพาดพิงถึงว่า ยะโส โอหัง

คำว่า "สัตว์เศรษฐกิจ" ไม่เพียงปรากฏอย่างดกดื่นแฝงนัยประชดประเทียดเท่านั้น ยังซุกงำความยกย่อง ชมเชย และประหลาดใจไว้ในตัวอีกด้วย

ในความเป็นจริง ญี่ปุ่นในปีนี้ ไม่เพียงมีขนาดเศรษฐกิจใกล้เคียงอย่างยิ่งกับเมื่อ 10 หรือ 20 ปีก่อนเท่านั้น สัตว์เศรษฐกิจตัวนี้ยังสูญเสียจิตวิญญาณของตัวเองไปโดยสมบูรณ์แบบอีกด้วย

ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี) ของญี่ปุ่นในปี 2010 มีมูลค่า ณ อัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบันอยู่ที่ 5.7 ล้านล้านดอลลาร์ ในขณะที่จีดีพีของสหรัฐอเมริกา เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวในช่วงเวลาเดียวกันเป็น 14.7 ล้านล้านดอลลาร์

เดือนสิงหาคมปีนี้ ญี่ปุ่นไม่เพียงหยุดนิ่งอยู่กับที่ ยังถูก จีน แซงหน้าขึ้นเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกเป็นอันดับ 2 แทน

สังคมญี่ปุ่นเต็มไปด้วยปัญหา การเมืองในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมาตกอยู่ในสภาวะ "อัมพาต" ในห้วงเวลาดังกล่าวนี้ ญี่ปุ่นมีนายกรัฐมนตรีรวมทั้งสิ้น 14 คน ไม่มีผู้ใดสามารถแม้เพียงแค่ "จุดประกาย" ให้ความหวังและแรงบันดาลใจกับสังคมญี่ปุ่นได้

บริษัทธุรกิจในญี่ปุ่น เรื่อยไปจนถึงปัจเจกบุคคล สูญเสียคิดเป็นมูลค่านับล้านล้านดอลลาร์ในตลาดหุ้น ที่ตอนนี้มีมูลค่ารวมเหลือเพียงแค่ 1 ใน 4 ของที่เคยมีเมื่อปี 1989

ราคาอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเคยเบ่งบานสุดขีด ชนิดที่มีการตีมูลค่าพระราชวังอิมพีเรียลไว้สูงถึงขนาดซื้อรัฐแคลิฟอร์เนียได้ทั้งรัฐ หลงเหลือเพียง 25 เปอร์เซ็นต์ของระดับราคาที่เคยทะยานขึ้นไปสูงสุดเมื่อปี 1974 และในความเป็นจริง ราคาอสังหาริมทรัพย์ไม่เคยขยับขึ้นอีกเลย นับตั้งแต่ปี 1983 เป็นต้นมา

...

รัฐบาลญี่ปุ่นทำได้เพียงแค่การกระตุ้นกระตุ้นและกระตุ้นเศรษฐกิจ หว่านและอัดฉีดเงินเข้าไปในระบบครั้งแล้วครั้งเล่า อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงแทบเป็น 0 เปอร์เซ็นต์มานานปีดีดัก ผลลัพธ์ที่ได้คือ ญี่ปุ่น กลายเป็นประเทศที่มีหนี้ภาครัฐสูงที่สุดในโลก

สูงถึง 200 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี!

สังคมเล่า? ประชากรญี่ปุ่นหดตัวลงอย่างรวดเร็ว ญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศที่มีประชากรสูงอายุมากที่สุดในโลก ระดับ "คนยากจน" เพิ่มขึ้นตามอัตราว่างงาน เช่นเดียวกับอัตราการฆ่าตัวตาย

โดยเฉลี่ยแล้วมีผู้กระทำอัตวินิบาตกรรมในญี่ปุ่นมากกว่า 30,000 คนต่อปี มากถึงขนาดตามเส้นทางรถไฟในกรุงโตเกียว จำเป็นต้องติดไฟสีน้ำเงินนวลตาเอาไว้เรียงรายตลอดแนวราง

โดยหวังว่ามันจะช่วยปลอบประโลม หรือเปลี่ยนการตัดสินใจใครก็ตามที่มาที่นี่เพื่อปลิดชีวิตตัวเอง

*****

สังคมญี่ปุ่นชราลงอย่างรวดเร็วเป็นสังคมที่ "ชราภาพ" มากที่สุดในโลก ในข้อเท็จจริงเรื่องนี้มีอีกข้อเท็จจริงซุกงำอยู่อย่างชวนตกตะลึง

"โซเง็น คาโตะ" มีชื่ออยู่ในบันทึกของเทศบาลนครโตเกียวว่าเป็นชายที่มีอายุยืนที่สุดในเขตเมืองหลวงของประเทศแห่งนี้ นับถึงตอนนี้ เขา "ควร" อายุ 111 ปี เจ้าหน้าที่พบเขาอยู่ในสภาพแห้งกรัง มวลเนื้อของร่างกายสูญสลายเหลืองเพียงหนังหดแนบแนวกระดูก อยู่บนเตียงนอน มองปราดแรกชวนให้เข้าใจว่าเป็นมัมมี่

บุตรีวัย 81 บอกกับเจ้าหน้าที่ว่า โซเง็น ทะเลาะกับหลานๆ แล้วก็สะบัดหน้าเดินเข้าห้องนอน ไม่ยอมออกมาอีกเลยนับตั้งแต่วันนั้น

นั่นไม่ใช่เรื่องแปลกถ้าหากว่า เหตุการณ์ตามคำบอกเล่าไม่ได้เกิดขึ้นเมื่อหลายสิบปีก่อน! ลูกๆ หลานๆ ทำอะไรอยู่ในช่วงเวลานานนักหนานั้น?

คำตอบคือ ครอบครัวคาโตะ เก็บงำเรื่องทั้งหมดไว้ เพียงเพื่อให้ได้รับบำนาญและเงินช่วยเหลือพิเศษสำหรับผู้สูงอายุเกิน 100 ปีของทางการได้ต่อไป

นั่นยังไม่ชวนให้ช็อคเท่ากับอีกกรณีของสุภาพสตรีชาวญี่ปุ่นอีกราย เธอ "ควร" มีอายุ 104 ปี ในปีนี้ ถ้าหากเจ้าหน้าที่ไม่ตรวจสอบพบเพียงแค่ "กะโหลก" ของเธอ เก็บไว้เป็นอย่างดีในเป้สะพายหลัง ที่บุตรชายอายุ 64 ปี เป็นเจ้าของ

คำให้การของผู้ลูกสูงวัยก็คือ เมื่อมารดาเสียชีวิต เขาชำระศพอย่างดี จากนั้นชำแหละอย่างระมัดระวังเป็นชิ้นๆ สตัฟฟ์เก็บไว้ในเป้ใบนี้ เหตุผลง่ายๆ สั้นๆ ที่เขาให้กับเจ้าหน้าที่ก็คือ

"ผมไม่มีเงินค่าจัดการศพ"!

เหตุการณ์น่าแตกตื่นทำให้รัฐบาลไม่มีทางเลือกจำเป็นต้องสั่งตรวจสอบ ส่งเจ้าหน้าที่ไป "พบหน้า" ผู้สูงอายุที่อายุยืนกว่า 100 ปีทุกคนทั่วประเทศ ยิ่งค้น ยิ่งพบ ยิ่งหายิ่งชวนแตกตื่นตกใจ

รวมทั้งหมดทั่วประเทศ รัฐบาลญี่ปุ่นพบว่า มีผู้ที่สูงวัยเกิน 100 ปี มากกว่า 234,000 คนที่อยู่ในทะเบียนผู้สูงวัยพิเศษที่ควรได้รับเงินสนับสนุนพิเศษจากรัฐ ไม่มีตัวตนอยู่จริง

หากไม่พบเป็นศพ ก็พบว่าหายตัวไปและควรถูกระบุว่า เสียชีวิตแล้ว เมื่อเนิ่นนานมาแล้ว

*****

ความเป็นจริงของเหตุการณ์น่าตระหนกแต่ที่น่าตกใจยิ่งกว่าก็คือ เหตุผลที่อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเช่นนั้น เกิดอะไรขึ้นกับสังคมญี่ปุ่น?

เหตุผลประการแรกที่ทำให้คนตายกลายเป็น "แหล่งรายได้" ของคนเป็น ก็คือ "ไม่รู้" พวกเขาอยู่ห่างกันไกลเกินไปเพราะความจำเป็นในการทำมาหาเลี้ยงชีพ จนจำเป็นต้องทิ้งผู้เฒ่าผู้แก่ไว้เพียงลำพังในอีกเมืองหนึ่ง อีกอำเภอหนึ่ง

เหตุผลประการถัดมาก็คือ "หายไป" มีบ้างที่ไร้ร่องรอยให้เสาะหา มีบ้างที่ลูกๆ หลานๆ ไม่ต้องการเสาะหา

แต่เหตุผลประการสำคัญที่ทำให้พวกเขาทั้งหมดไม่รายงานการหายตัวไป หรือการเสียชีวิตของผู้เฒ่าในครอบครัวก็คือ "เงิน"

เงินเพียงไม่กี่พันบาท ที่มีความหมายอย่างยิ่งต่อคนเป็นมากกว่าจะคำนึงถึงประเพณีและวัฒนธรรมความเหนียวแน่นในครอบครัวและการเคารพผู้อาวุโสอีกต่อไปแล้ว

"ความยากจน"ที่ว่านี้เป็นเพียง "อาการ" หนึ่งที่สะท้อนถึง 2 ทศวรรษแห่งความว่างเปล่าทางเศรษฐกิจและสังคมของญี่ปุ่น อากิระ เนโมโตะ เจ้าหน้าที่ประจำแผนกดูแลผู้สูงวัยของเขตอาดาชิ ในกรุงโตเกียว สะท้อนอีกอาการหนึ่งออกมา

"ไม่มีใครสนใจเพื่อนบ้านกันอีกต่อไป" เขาบอก ไม่แม้แต่บ้านที่รั้วติดกันหรืออพาร์ตเมนต์ที่ช่องประตูห่างกันเพียงไม่กี่เมตร

ยิ่งนับวันคนญี่ปุ่นยิ่งหดตัวเองแคบลง แคบลงเรื่อยๆ เหลือเพียงรัศมีโดยรอบตัวเองไม่กี่ตารางเมตร เริ่มจากผู้สูงอายุ แล้วลุกลามต่อไปยังลูกๆ หลานๆ ทั้งหมดพยายามอยู่ได้ด้วยตัวเอง ใช้จ่ายให้น้อยที่สุด เพื่อดำรงตนให้อยู่ได้นานที่สุด

ทำอย่างไร เงินบำเหน็จบำนาญของตัวเอง หรือของผู้เป็นพ่อ-แม่ ที่ได้รับในแต่ละเดือนจึงจะสามารถยังชีพต่อไปได้

"ทุกคนคิดถึงแต่เงิน เงินที่ไม่มากมายเหมือนเมื่อก่อนอีกแล้ว" เนโมโตะ บอกอย่างนั้น

มันเริ่มต้นอย่างช้าๆ แต่มั่นคงและแน่วแน่อย่างยิ่ง เริ่มจากซัพพลายเออร์ในอาดาชิ หดหายไปเรื่อยๆ ถ้าไม่ล้มละลายก็โยกย้ายไปยังจีนพร้อมๆ กับบริษัทขนาดใหญ่ของญี่ปุ่น ถัดมาร้านรวงในย่านนั้นก็เริ่มปิดตัวลง สุดท้ายแหล่งพบปะของชุมชนคนย่านเดียวกันที่มีอยู่แห่งเดียวก็ร้างราตามไปด้วย

หลังจากนั้น อุตสาหกรรมของญี่ปุ่นอุตสาหกรรมแล้วอุตสาหกรรมเล่า ยกธงขาวยอมแพ้ให้กับคู่แข่งกระหายชัยชนะและส่วนแบ่งการตลาดจากเกาหลีและจีน

ไม่มีงาน ไม่มีเงิน ไม่มีอนาคต คือสิ่งที่วนเวียนอยู่ในหัวของผู้คนในญี่ปุ่น

ความเชื่อมั่น ทะยานอยาก หดหายไปตามกาลเวลาที่ผ่านไป

*****

เมื่อมาตรฐานการครองชีพลดน้อยถอยลง ประเทศชาติที่เคยมั่งคั่งและยังมั่งคั่งอยู่ในบางแง่มุมในเวลานี้ ก็เริ่มเสื่อมทรุด ค่านิยมใหม่เริ่มชัดเจนมากขึ้นตามลำดับโดยเฉพาะในหมู่คนหนุ่มสาว "ความมัธยัสถ์" กลายเป็นเรื่องที่ต้องทำ "ความเสี่ยง" อย่างองอาจและกล้าหาญ คือสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง

คนรุ่นใหม่ เจเนอเรชั่นใหม่ ในวัยยี่สิบ คิดเห็นเช่นนี้ เพราะในชีวิตของพวกเขาไม่เคยพานพบอหังการของญี่ปุ่น ไม่เคยลิ้มลองความรุ่งโรจน์ของอาทิตย์ยามอุทัย พวกเขารับรู้และมีประสบการณ์อยู่แต่กับภาวะชะงักงันทางเศรษฐกิจ และภาวะเงินฝืด หาได้ยากเย็นอย่างยิ่ง

ไม่แปลกที่พวกเขาปฏิเสธที่จะซื้อรถยนต์หรือโทรทัศน์ ไม่แปลกที่มีน้อยมากที่ตัดสินใจไปศึกษาต่อในต่างแดนชนิดไปตายดาบหน้า

ชาติที่เคยเปี่ยมด้วยพลวัตท้าทายทุกอุปสรรค กลายเป็นสังคมที่คับแคบ วัฒนธรรมที่คับแคบอย่างน่าสะพรึงกลัว

ภาวะเงินเฟ้อ มีอันตรายอยู่ในตัวเอง แต่ภาวะเงินฝืด ก็เปี่ยมอันตรายอย่างยิ่งเช่นเดียวกัน เพราะมันทำให้ปัจเจกและบริษัทธุรกิจไม่อยากจับจ่าย เพราะราคาของทุกอย่างถูกลงจนสิ่งที่เพิ่มค่าขึ้นเรื่อยๆ มีเพียงอย่างเดียวคือ "เงินสด" การถือเงินสดๆ ไว้ในมือคือการลดความเสี่ยงทุกอย่างลงจนหมด

ถ้าภาวะดังกล่าวเกิดขึ้นชั่วครู่ชั่วยาม ผลสะเทือนจะไม่ลึกซึ้งอย่างในญี่ปุ่น ที่ซึ่งภาวะเงินฝืดจำหลักจนกลายเป็นจิตใต้สำนึก โลกที่ชาวญี่ปุ่นเห็นเป็นโลกในแง่ร้ายที่หดหู่ น่าหวาดหวั่น ไร้ความหวังจนกลัวที่จะเสี่ยง เกาะกินสัญชาตญาณดั้งเดิมให้ลังเลที่จะควักกระเป๋า หรือ ลงทุน

แต่ยิ่งกลัว ยิ่งผลักดันให้อุปสงค์ในประเทศลดลงมากยิ่งขึ้น และราคาของทุกอย่างยิ่งหดหายไปมากยิ่งขึ้นไปอีก

ฮิซากาซุ มัตสึดะ ประธานสถาบันวิจัยการตลาดบริโภคแห่งญี่ปุ่น (เจซีเอ็มอาร์ไอ) เรียกเจเนอเรชั่นใหม่ในวัย 20 เศษเหล่านี้ว่า "คนยุครังเกียจบริโภค" เขาประเมินเอาไว้ว่า เมื่อคนยุคนี้อายุถึง 60 ปี นิสัยมัธยัสถ์ร่วมสมัยของพวกเขาจะส่งผลให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นต้องสูญเสียมูลค่าการบริโภคไปราว 420,000 ล้านดอลลาร์

"ในโลกนี้ไม่มีเจเนอเรชั่นที่ไหนเหมือนที่นี่อีกแล้ว" มัตสึดะบอก

คนพวกนี้คิดว่าการควักกระเป๋าจ่ายคือความโง่เขลาเบาปัญญาไปแล้ว

*****

ในทรรศนะของนักเศรษฐศาสตร์ญี่ปุ่นคือตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า "ทุนนิยม" กลืนกินตัวเองได้อย่างไร และผู้นำทางการเมืองของญี่ปุ่นล้มเหลวคนแล้วคนเล่าได้อย่างไร

"แจแปนิฟิเคชั่น" คือการตกลึกลงไปใน "กับดักภาวะเงินฝืด" ที่เกิดขึ้นเมื่อ อุปสงค์ล่มสลายจากการที่ผู้บริโภคปฏิเสธที่จะใช้จ่าย ส่งผลต่อไปยังบริษัทธุรกิจที่ขยาดกับการลงทุน และบรรดาธนาคารทั้งหลายนั่งอยู่บนกองเงินออมก้อนมหึมา

มันกลายเป็นวัฏจักรของความเลวร้าย ที่อยู่ได้ด้วยตัวเองและกลืนกินตัวเองไปเรื่อยๆ ยิ่งไม่มีการจับจ่าย ยิ่งกดดันให้ราคาข้าวของลดลงมากขึ้น งานหายไปมากขึ้น เงินในกระเป๋าผู้บริโภคยิ่งลดลงและยิ่งมัธยัสถ์มากยิ่งชึ้น ซึ่งยิ่งทำให้ธุรกิจยิ่งตัดทอนรายจ่ายมากยิ่งขึ้น ชะลอแผนขยายตัวออกไปอีกเรื่อยๆ และดูเหมือนยังไม่มีที่สิ้นสุด

ผู้นำญี่ปุ่นผิดพลาดตั้งแต่ปฏิเสธความหนักหนาสาหัสของปัญหาที่ประเทศเผชิญในตอนแรกและยิ่งผิดซ้ำซากด้วยการใช้เวลาเนิ่นนานอัดฉีด เม็ดเงินเพื่อการสร้างงานผ่านโครงการใหญ่โตของรัฐ ที่ทำได้ก็เพียงแค่ เลื่อนระยะเวลาของการ "ปรับโครงสร้าง" เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ที่เจ็บปวดกว่า ยากเย็นกว่า ออกไปเพียงชั่วครั้งชั่วคราว

จนอาจบางทีอาทิตย์อุทัย อาจไม่หลงเหลือให้คาดหวังอีกต่อไป

Powered by MakeWebEasy.com