Last updated: 13 มี.ค. 2561 | 3923 จำนวนผู้เข้าชม |
.. เมื่อประมาณสิบกว่าปีก่อน คอหนังจำนวนมาก คงเคยผ่านสายตา Schindler’s List ภาพยนตร์ออสการ์ ยอดเยี่ยมประจำปี ๑๙๙๓ โดยผู้กำกับการแสดงชื่อดัง สตีเวน สปีลเบิร์ก สร้างจากเรื่องจริง สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อทหารเยอรมนี ได้สร้างค่ายกักกันชาวยิว เพื่อฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว ให้หมดสิ้น แต่นักธุรกิจนามชิลเดอร์ ผู้มีสายสัมพันธ์ที่ดี กับนายทหารนาซี ทนเห็นการสังหารหมู่ อย่างโหดเหี้ยมไม่ไหว จึงได้เป็นผู้ช่วยชีวิตชาวยิว อย่างลับๆ ให้รอดจากการถูกแก๊สรมควันตาย เป็นจำนวนหลายพันคน
..บ้านเราเอง ก็มีวีรบุรุษนิรนาม ในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ผู้ช่วยชีวิตเชลยศึก ให้รอดพ้นจากการทำร้าย ของทหารญี่ปุ่น ในการก่อสร้างทางรถไฟ ข้ามสะพานข้ามแม่น้ำแคว จังหวัดกาญจนบุรี แต่ไม่ค่อยมีใครเปิดเผย เรื่องราวของเขา ให้สังคมได้รับรู้ คือผู้ชายชื่อบุญผ่อง สิริเวชชะพันธ์
..ด้านหนึ่งธุรกิจของเขา เป็นที่รู้จักของคนในเมืองหลวง เมื่อสามสี่สิบปีก่อน คือรถเมล์บุญผ่อง รถเมล์เอกชนบริษัทหนึ่ง ที่ได้สัมปทานวิ่งรับผู้โดยสาร ในกรุงเทพมหานคร ก่อนที่ทางการ จะยึดกิจการรถเมล์ มาเป็นรัฐวิสาหกิจ ในเวลาต่อมา
..แต่ดูเหมือนชื่อของบุญผ่อง เป็นที่รู้จักกันดี ในหมู่ประเทศสัมพันธมิตร ผู้รำลึกถึงบุญคุณของท่าน มากกว่าคนไทยเสียอีก
..ในปีพ.ศ. ๒๔๘๕ กองทัพของจักรวรรดิญี่ปุ่น ได้ตัดสินใจสร้างทางรถไฟ เพื่อเชื่อมต่อระหว่าง ประเทศพม่าและประเทศไทย เพื่อขนส่งกองทหาร และอาวุธยุทโธปกรณ์จากไทย เป้าหมายคือ ยาตราทัพบุกยึดพม่า และอินเดีย ให้สำเร็จในเวลาอันรวดเร็ว
..กองทัพญี่ปุ่น จึงได้เกณฑ์แรงงานพลเรือน ชาวเอเชียกว่าสองแสนคน และทหารเชลยศึก ฝ่ายสัมพันธมิตรอังกฤษ ออสเตรเลีย ส่วนใหญ่ที่จับได้ในสิงคโปร์ มาเลเซีย อีกกว่าหกหมื่นคน เพื่อสร้างทางรถไฟ ระยะทางสี่ร้อยกว่ากิโลเมตร ให้เสร็จภายในปีเดียว จนได้รับการขนานนามว่า ทางรถไฟสายมรณะ เพราะคำกล่าวว่า “หนึ่งไม้หมอน คือ หนึ่งชีวิตของเชลย” และเมืองกาญจนบุรี เป็นชัยภูมิสำคัญ ที่กองทัพญี่ปุ่น เลือกสร้างทางรถไฟ ค่ายเชลยถูกสร้างขึ้น ตลอดเส้นทางตัดผ่าน
..เชลยศึกพันธมิตรหลายพันคน ต้องทนทุกข์ทรมาน จากโรคภัยไข้เจ็บ การทำงานหนัก การถูกคุมขัง
แต่เชลยศึกจำนวนมาก ก็รอดตาย จากการแอบช่วยเหลือ อย่างเงียบๆ ของคนไทยหลายคน ผู้แอบช่วยส่งเสบียง และยารักษาโรค ให้กับเชลยเหล่านี้ ด้วยมนุษยธรรม แม้ว่าหากถูกทหารญี่ปุ่นจับได้ อาจถูกทรมาน หรือถูกยิงทิ้งเสียชีวิต
.. เวลานั้น นายบุญผ่อง สิริเวชชะภัณฑ์ เป็นนายกเทศมนตรี มีฐานะดีในเมืองกาญจนบุรี อาศัยบนถนนปากแพรก ซึ่งเป็นย่านการค้าของเมือง เป็นพ่อค้าไทย เจ้าของร้านสิริโอสถ ผู้ค้าขายกับทหารญี่ปุ่น ได้รับสัมปทานส่งอาหาร ให้แก่ค่ายเชลย ไปจนถึงทางตอนใต้สุด ของทางรถไฟสายมรณะ และประมูลตัดไม้หมอนรถไฟ ขายให้กับทหารญี่ปุ่นด้วย เวลานั้นปากแพรก เป็นแหล่งซื้อขายสินค้าสำคัญ คือแหล่งซื้อขายสินค้า ที่ใกล้ค่ายทหารที่สุด และบุญผ่องยังได้เปรียบร้านอื่น ที่สามารถพูดภาษาอังกฤษ ติดต่อกับทหารญี่ปุ่น และเชลยศึกได้ เป็นอย่างดีด้วย จึงได้รับความไว้วางใจ ในการเข้าออกในค่ายเชลยศึก
จากอาชีพพ่อค้าที่เริ่มจาก การขายสินค้าอย่างเดียว แต่เมื่อได้เข้าไปรับรู้ ความทุกข์ยากทรมาน ของเชลยศึกในค่าย โดยเฉพาะผู้ป่วย จากไข้มาลาเรีย ที่ไม่มียาควินิน เพียงพอจะรักษาคนไข้ได้ ทุกวันมีคนป่วยตาย เอาศพโยนลงแม่น้ำ และในที่สุด เมื่อบุญผ่องได้รับการร้องขอ ความช่วยเหลือ จากหมอเวรี่ ศัลยแพทย์ชาวออสเตรเลีย ด้วยเหตุผลทางมนุษยธรรม เขาจึงยอมเสี่ยงชีวิต ลักลอบเอายาควินิน มาให้หมอเวรี่ รักษาคนไข้ รอดตายอย่างสม่ำเสมอ บางครั้งซุกซ่อนอาหาร ยารักษาโรค และเครื่องใช้ต่างๆ แอบมาในเข่งผัก เพื่อมอบให้กับเชลยศึก ส่วนใหญ่เป็นชาวออสเตรเลีย อังกฤษและเนเธอร์แลนด์ หลายครั้งต้องแอบว่ายน้ำ เข้ามาในค่ายตอนกลางคืน โดยรอบคอแขวนเครื่องเวชภัณฑ์ และต่อมายังให้ด.ญ.ผณี ลูกสาววัยสิบขวบ แอบนำยามาให้เชลยศึก เพื่อไม่ให้ฝ่ายญี่ปุ่นสงสัย
..นอกจากนี้ นายบุญผ่องยังเป็นผู้ลอบ ติดต่อกับเชลยสงคราม ช่วยส่งเอกสารลับ บอกพิกัดของสะพานฯ ให้แก่ฝ่ายสัมพันธมิตร หลายครั้งหลายหนจน ทำให้พันธมิตรทิ้งระเบิด ลงสะพานข้ามแม่น้ำแคว ได้อย่างแม่นยำ
คุณป้าลำใย น้องสะใภ้ของบุญผ่อง ได้เคยเล่าว่า
..“สะพานมันอยู่ในป่าในดงน่ะ ใครจะไปเห็นได้ชัด ตอนนั้นเชื่อได้ว่าพี่บุญผ่อง ต้องเป็นส่วนหนึ่ง ที่ทำให้ระเบิดลงถูกจุด”
..บางครั้งเชลยศึกหลายคนไม่มีเงิน บุญผ่องให้เชลย กู้ยืมเงินเพื่อไปซื้อของ จอห์น โคสต์ อดีตเชลยศึกชาวอังกฤษ ได้เคยบันทึกว่า “พวกเชลยผอมโซ ขาดอาหารและไม่มีเงิน เขาก็ให้กู้โดยมีสิ่งของ เช่นนาฬิกา แหวน หรือ ซองบุหรี่ เป็นประกัน พวกเรายังไม่ค่อยเชื่อใจเขานัก แต่กาลเวลาพิสูจน์ เขามีสัจจะตามคำพูดทุกอย่าง เขาคืนสิ่งของให้กับทุกคน ที่มาไถ่”
..สุดท้ายเมื่อคุณสุรัตน์ ผู้เป็นภรรยาของบุญผ่อง ทราบเรื่อง ก็เกิดการทะเลาะกัน ในครอบครัว อย่างรุนแรง ฝ่ายหนึ่งไม่ต้องการให้ครอบครัว มีอันตราย แต่อีกฝ่ายหนึ่งยอมเปลืองตัว เพื่อช่วยชีวิตผู้คน ไม่ให้ตายไปต่อหน้า แม้ต้องเดิมพันชีวิต ด้วยครอบครัว ภรรยา ลูกสาว และครอบครัว ของสิริเวชชะพันธุ์ทุกคน
..กระทั่งปลายปี พ.ศ. ๒๔๘๗ สงครามโลกใกล้สงบ กองทัพญี่ปุ่น กำลังพ่ายแพ้ทุกสมรภูมิรบ บุญผ่องได้ถูกลอบยิงในเมือง ได้รับบาดเจ็บ ซึ่งสันนิษฐานว่า มาจากคนที่ไม่พอใจ บุญผ่องช่วยเหลือ ทหารเชลยศึก ต่อมาหมอเวรี่ ได้เคยบันทึกไว้ว่า “บุญผ่องรอดตายจากการถูกยิง กระสุนทะลุเข้าที่หน้าอก” แต่ด้วยฝีมือความพยายาม อย่างสุดชีวิตของทีมแพทย์ ของอดีตเชลยศึก เป็นผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด จนกระทั่ง บุญผ่องรอดพ้นอันตราย มีชีวิตยืนยาวต่อมา จนออกมา ทำธุรกิจรถเมล์บุญผ่อง โดยได้รับการช่วยเหลือ จากทหารฝ่ายสัมพันธมิตร ยกรถบรรทุกร่วม ๒๐๐ คัน ที่ยึดได้จากทหารญี่ปุ่น ให้เขามาประกอบ ธุรกิจรถประจำทาง ในเมืองหลวงในปีพ.ศ. ๒๔๙๐
..หลังสงคราม อดีตเชลยต่างชาติ และชาวต่างชาติ ต่างยกย่องให้เขาเป็น..วีรบุรุษแห่ง ทางรถไฟสายมรณะ…ผู้ที่ชาวต่างชาติหลายพันคนยืนยันว่า “ พวกเขา เป็นหนี้บุญคุณนายบุญผ่อง ตลอดชีวิต เป็นหนี้…ที่ใช้คืนไม่หมด!”
..ในปีพ.ศ. ๒๔๙๑ นายบุญผ่องได้รับ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ จากรัฐบาลออสเตรเลีย อังกฤษและเนเธอร์แลนด์ และทุกวันคริสต์มาส เขาและภรรยา ได้รับจดหมายอวยพร และของขวัญ จากเชลยศึกเป็นจำนวนมาก และพระนางเจ้าอลิซาเบธ ที่สองและพระสวามี เมื่อครั้งเสด็จมาเยือนเมืองไทย ในปี พ.ศ. ๒๕๑๕ ได้รับสั่งให้บุญผ่องและภรรยา เข้าเฝ้าและร่วมโต๊ะเสวยด้วย และได้รับการประดับยศ เป็นพันโทบุญผ่อง ของอังกฤษ และเนเธอร์แลนด์
.. จนเมื่อวันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๒๕ มีการตีพิมพ์ข่าว ในหน้าหนังสือพิมพ์อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ และออสเตรเลียรายงานว่า วีรบุรุษสงครามโลกชาวไทย ได้เสียชีวิตด้วยโรค เส้นเลือดในหัวใจพอง ..มีการสัมภาษณ์ อดีตทหารผ่านศึกหลายคน กล่าวยกย่อง ความกล้าหาญ และทำให้พวกเขารอดชีวิตมาได้ เพราะผู้ชายไทยคนนี้
..ปี พ.ศ. ๒๕๔๑ ในวันเปิด พิพิธภัณฑ์ช่องเขาขาด กาญจนบุรี เพื่อรำลึกถึงทหารเชลยศึก ฝ่ายสัมพันธมิตร ที่เสียชีวิต ในระหว่างการสร้าง ทางรถไฟสายมรณะ รัฐบาลออสเตรเลีย โดยนายจอห์น โฮวาร์ด นายกรัฐมนตรี ก็ได้ประกาศ อย่างเป็นทางการ ให้บันทึกความกล้าหาญ ของนายบุญผ่องเอาไว้ โดยมอบใบประกาศ ยอมรับว่า พวกเขาเป็นหนี้นายบุญผ่อง โดยมอบให้กับ หลายชายนายบุญผ่อง และระบุในใบประกาศว่า
“ขอให้ประกาศนียบัตรฉบับนี้ เป็นเครื่องหมายแห่ง ความสำนึกในบุญคุณ อันหาที่สิ้นสุดมิได้ของเรา สำหรับการกระทำ ที่เปี่ยมไปด้วยคุณงามความดี ของบรรพบุรุษของท่าน และขอให้เป็นสัญลักษณ์ แห่งความอบอุ่น ของมิตรภาพของเรา ซึ่งเติบโตขึ้นเรื่อยๆ นับแต่สงครามเป็นต้นมา…”
..ในช่วงชีวิตของคนเรา ที่อายุยืนยาวมาหลายสิบปี คนอื่นจะจำชีวิตของเราได้ ในบางช่วงที่สำคัญเท่านั้น ชีวิตของคนคนหนึ่ง จะให้คนอื่นจดจำอย่างไร เรามีสิทธิ์เลือกได้
บุญผ่อง สิริเวชชะพันธ์
..ดูภาพยนต์ บุญผ่อง http://program.thaipbs.or.th/Boonpong
...สารคดี พฤษภาคม 2556
13 ก.พ. 2561
13 ก.พ. 2561
13 มี.ค. 2561
13 ก.พ. 2561