Last updated: 7 มิ.ย. 2560 | 507 จำนวนผู้เข้าชม |
ในชีวิตจริงเราไม่ได้อยู่ด้วยความถูกต้องอย่างเดียว (โดยเฉพาะความถูกต้องที่ผูกติดกับ "ตัวกูของกู") แต่ยังมีสิ่งดีงามอีกหลายอย่างที่ต้องคำนึงและรักษาไว้ด้วย เช่น สัมพันธภาพ และการเจริญเติบโตภายใน เป็นต้น การยึดมั่นกับความถูกต้องมากเกินไป มักทำให้เรามองข้ามสิ่งอื่นไป จนเกิดผลเสียตามมา ครอบครัวหรือหน่วยงานที่เอาเป็นเอาตายกับความถูกความผิดมากเกินไป มักจะลงเอยด้วยความร้าวฉาน ในทางตรงข้าม สัมพันธภาพจะยั่งยืนได้ จำเป็นต้องรู้ว่าจะยืนยันหรือเรียกร้องความถูกต้องแค่ไหนถึงจะพอดี
น.พ.พันธ์ศักดิ์ ศุกระฤกษ์ เล่าถึงสามีภรรยาคู่หนึ่ง ผู้ชายนั้นชอบตกปลาขณะที่ผู้หญิงเห็นว่าเป็นบาป ภรรยาขอร้องสามีจนในที่สุดสามียินยอมว่าจะไม่ตกปลาอีกเพราะเห็นแก่ภรรยา แล้ววันหนึ่งภรรยามีกิจต้องเดินทางไปต่างจังหวัดเป็นเวลา 5 วัน สองวันแรกที่ภรรยาไม่อยู่บ้านนั้น สามีมือไม้สั่นทุกครั้งได้ยินเสียงปลากระโดดงับเหยื่อในสระหน้าบ้าน แต่ก็ห้ามใจไว้ได้
ครั้นถึงวันที่ 3 ทนไม่ไหว คว้าเบ็ดเอาไส้เดือนมาเกี่ยวเบ็ดแล้วก็ไปตกปลา เผอิญภรรยากลับมาก่อนกำหนด เห็นสามีกำลังตกปลา ภรรยาแทนที่จะตวาดแหวว่า "ทำไมเธอตกปลา สัญญากันแล้วไม่ใช่หรือ?" เธอกลับถามว่า "พ่อกำลังทำอะไรเหรอจ๊ะ ?"
สามีแทนที่จะสารภาพผิด กลับพูดบ่ายเบี่ยงว่า "ผมกำลังสอนไส้เดือนให้ว่ายน้ำ"
เจอแบบนี้เข้าภรรยาจะตอบว่าอย่างไร ?
ภรรยาแทนที่จะโกรธ กลับพูดว่า "ไส้เดือนว่ายน้ำนานแล้ว เอามันขึ้นจากน้ำเสียที เก็บเบ็ดแล้วไปกินข้าวกันดีกว่า" สามีเจอคำตอบเช่นนี้ก็ทำตามโดยดุษณี
ลองนึกดูว่า หากภรรยายึดมั่นกับความถูกต้องมากเกินไป ย่อมต้องคาดคั้นให้เขายอมรับผิดให้ได้ คงไม่ปล่อยให้สามีลอยนวลด้วยข้อแก้ตัวง่ายๆ ว่ากำลังสอนไส้เดือนให้ว่ายน้ำ อะไรจะเกิดขึ้นถ้าเธอโต้กลับไปว่า "ไม่ยอมรับแล้วยังมาเถียงข้างๆ คูๆ อีก บอกมาซิว่ากำลังทำอะไรอยู่ ทำผิดสัญญาแล้วยังมาแก้ตัวอีก..." เจอแบบนี้แล้วมีหรือสามีจะยอมแพ้ เพื่อไม่ให้เสียหน้าก็ต้องโต้ไปว่า "ทำไม ตกปลาไม่ได้เหรอไง เธอเป็นแม่ฉันหรือ?" ถ้าลงรูปนี้แล้วก็คงมีปากเสียงกันยาว เป็นไปได้ว่าในที่สุดภรรยาอาจต้อนให้สามียอมรับจนได้ว่าตนทำผิด แต่ถึงตอนนั้นสัมพันธภาพก็ร้าวฉานแล้ว ได้ความถูกต้องกลับคืนมาแต่เสียไมตรีไป จะคุ้มหรือไม่ในเมื่อความถูกต้องในกรณีนี้ไม่ใช่เรื่องใหญ่โตหรือคอขาดบาดตายแต่อย่างใด
ภรรยาในเรื่องนี้รู้ดีว่า การยืนยันเอาความถูกต้องจากสามี หรือคาดคั้นให้เขายอมรับผิดที่ตกปลา ไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุด ยังมีสิ่งอื่นที่สำคัญกว่าสำหรับชีวิตคู่ ได้แก่สัมพันธภาพ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเธอเอาหูไปนาเอาตาไปไร่กับสิ่งที่ไม่ถูกต้อง หากแต่เธอรู้ว่าจะเตือนเขาอย่างไรโดยไม่ใช้วิธีต้อนเขาให้จนมุม ส่วนหนึ่งนั้นเธอมีเมตตาพอที่จะปล่อยให้เขารอดตัวไปได้โดยไม่เสียหน้า อีกส่วนหนึ่งนั้นเธอมีสติพอที่จะไม่ปล่อยให้ความขุ่นเคืองใจครอบงำหรือลุกลามเป็นความโกรธ
นิทานเรื่องนี้สอนว่าในการอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวหรือหมู่คณะ แม้ความถูกต้องจะเป็นสิ่งสำคัญ แต่ก็ยังมีสิ่งอื่นที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน และควรคำนึงถึงอยู่เสมอ ได้แก่ สัมพันธภาพ ตลอดจน เมตตา การให้อภัย
- พระไพศาล วิสาโล -
13 มี.ค. 2561
13 มี.ค. 2561
13 มี.ค. 2561
13 มี.ค. 2561