การปฎิบัติธรรมและการฝึกนั่งสมาธิ

Last updated: 7 มิ.ย. 2560  |  562 จำนวนผู้เข้าชม  | 

การปฎิบัติธรรมและการฝึกนั่งสมาธิ เป็นเพียงการฝึกจิตให้ปล่อยวาง. เป็นเพียงการเก็บและกดปัญหา ที่สุดของศาสนาพุทธคือการรู้จักต้นเหตุของปัญหา และเรียนรู้ที่จะแก้ปัญหาให้หมดสิ้นไปได้..

"...อานุภาพแห่งบุญกุศลโดย หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ..."

บุญกุศล ย่อมอำนวยผลให้ตราบเท่าถึงชรา พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ คือ มีศรัทธา เชื่อบุญ-บาป ตั้งใจบำเพ็ญบุญกุศล ก็จะทำให้ร่างกายปกติ แข็งแรง จิตใจตั้งมั่นไม่ทุกข์ร้อน คนมีบุญใจไม่ร้อน ใจไม่ทุกข์ ลองสังเกตตัวเองว่าตั้งแต่ ตั้งใจทำดี ความโกรธ ความใจร้อน ความโมโหโทโสเบาลงหรือเปล่า อันนี้ต้องพิจารณาเอง คนอื่นรู้ให้ไม่ได้ ตัวรู้ของตัว

บุญ บาป ทุกข์ มีใจเป็นใหญ่ สำเร็จแล้วด้วยใจ ให้พากันรักษาจิตใจ ฝึกสติรักษาใจ ให้มากกว่าทรัพย์ภายนอก ไม่เช่นนั้นกิเลสตัณหา ก็จะมาพาไป ดึงไปให้สุขอยู่กับความสุขในโลก อันไม่ยั่งยืน

ตัณหา คือ เหตุให้ทุกข์เกิด

สมุทัย คือ เหตุให้ทุกข์เกิด

นิโรธ คือ ความดับทุกข์ (เมื่อดับตัณหาได้ ทุกข์ในใจก็หมดลง)

ศีล-สมาธิ-ปัญญา คือ ทางปฏิบัติเพื่อความดับไปของทุกข์ทั้งปวง

การกิน การนอน การร่าเริงมหรสพต่างๆ เป็นเพียงสุขชั่วคราว ไม่ยั่งยืน ย่อมแตกดับไปเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้นทุกคนที่ปฏิบัติธรรม อย่าไปหลงไหลในความสุขชั่วคราวนั้น แต่ความสุขชั่วคราวนี้ ไม่มีก็ไม่ได้ เพียงแต่ว่าเมื่อมีมาแล้ว ก็ให้รู้เท่า ถ้าไม่รู้เท่า ก็จะเป็นทุกข์ พอมันหายไปทุกข์ใหญ่ก็จะเกิดขึ้น สร้างเนื้อสร้างตัวให้เป็นฝั่งฝา อยู่เย็นเป็นสุข และอาศัยความสุข ชั่วคราวนี้เอง

ถ้ายังกินอาหารอร่อยอยู่ ยังไม่เบื่ออาหาร ความสุขใน การนอนหลับก็สุขชนิดหนึ่ง ยังเป็นเครื่องบำรุงร่างกายกำลังให้แข็งแรง ใครนอนไม่หลับ ๓ คืนก็แย่เลย โรยแรง ทำการงานก็อ่อนแอ ไม่เข้มแข็ง ดังนั้น จึงต้องอาศัยความสุขชั่วคราวเหล่านี้ พยายามนอนให้หลับ ถ้ายังไม่หลับก็ไปหาหมอให้ตรวจเสีย เพื่อหมอจะได้แก้ไขให้นอนหลับได้

กายนี้เป็นอยู่แสนยากลำบาก การมีชีวิตอยู่จนวันนี้นับเป็น วาสนานาบุญที่ทำมาแต่หนหลัง ให้อยู่เย็นเป็นสุข ปราศจากโรคภัย ไม่เจ็บร้ายแรง ผู้มีกุศลในใจ คือ มีบุญในใจ หนักแน่น ใครด่าว่าติเตียน ก็ไม่เสียใจ ไม่โกรธ ไม่เกลียด เพราะว่าใจมีบุญเป็นเครื่องอยู่ ตรงกันข้ามกับใจที่มีกิเลสเป็นเครื่องอยู่ กิเลสอยู่ในใจใคร ก็มีแต่ปั่นจิตใจให้เดือดร้อนวุ่นวาย ควรกำหนดละกิเลสให้เสมอ บรรเทาโกรธ พยายามเจริญเมตตาให้มาก

ให้สัตว์ทั้งหลายมองเห็นเราเป็นเพื่อน สัตว์ทั้งหลายเห็นเรา เป็นมิตรก็เลื่อมใสยินดี อยากผูกมิตร (นี่เป็นอานิสงส์แห่งการเจริญเมตตา) ย่อมเป็นที่รักของมนุษย์และเทวดาทั้งหลาย แม้เทวดาแสนสูงในชั้นฟ้า ก็จะมีจิตเมตตาต่อผู้มีใจดีมีคุณธรรม และให้การอารักขาไม่ให้มีอันตรายใด เพราะว่าเทวดาพร้อมด้วยเมตตาธรรมและคุณธรรม จะเห็นว่า เทวดาไม่มีการทะเลาะเบาะแว้ง ต่างคนต่างเสวยผลบุญของตน สวรรค์ไม่มีการค้าขาย ไม่สะสมเงินทองเพราะว่าสวรรค์ เป็นที่อยู่ของผู้มีบุญ

เพราะฉะนั้น ให้พากันอารักขาจิตใจทุกอิริยาบถ ยืนเดินนั่งนอน ให้ใจตั้งมั่นอยู่ในพุทธคุณ ก่อนนอนให้ไหว้พระก่อน นั่งสมาธิ เอาสติเข้าไปตั้งอยู่ในใจ รวบรวมจิตให้ตั้งมั่นอยู่ในบุญ คุณ มีสัมปชัญญะ คือ รู้ตัวเสมอ ว่าขณะนี้เรากำลังทำอะไรอยู่ ต้องกำหนดดูรู้ตัวเสมอ เวลาเกิดอะไรก็ไม่ตกใจ ไม่หวั่นไหว เพราะว่ามีสติสัมปชัญญะตามรักษาจิตใจอยู่ แต่ถ้าปล่อยกิเลส ตัณหา ครอบงำจิตใจ เกิดอะไรขึ้นก็จะสะดุ้ง กลัว สัตว์ดุร้ายมีพิษไม่จำเป็นต้องไปฆ่าแกงเค้า ที่แท้ไม่คิดว่า เราเองมีพิษยิ่งกว่าพิษงู เช่น โกรธใครก็ใช้วาจาทิ่มแทงเค้า ให้เจ็บอกเจ็บใจยิ่งกว่าโดนพิษงูกัด เพราะว่าเจ็บที่ใจไม่ใช่ เจ็บที่กาย

โบราณจึงบอกว่า "เจ็บอื่นหมื่นแสน...เจ็บจนตายเพราะพูดเหน็บให้เจ็บใจ อันอ้อยตาลหวานลิ้นแล้วสิ้นซาก แต่ลมปากหวานหูไม่รู้หาย...เจ็บจนตายเพราะพูดเหน็บให้เจ็บใจ"

เคยไหม ว่าใครให้เจ็บใจ ผู้ปฏิบัตินั้นใครทำเราเราให้อภัยไป ไม่ผูกเวรผูกกรรม ขอให้ต่างอยู่เย็นเป็นสุข รักษาตนให้พ้นจาก ทุกข์ภัยทั้งปวงเถิด ทำอย่างนี้ รักษาบุญไว้ในใจ บุญก็รักษาใจเราให้ไม่ดุร้าย จิตใจก็สม่ำเสมอ เบิกบานด้วยบุญกุศล ไม่อ่อนแอท้อแท้ จากหนุ่มตราบเฒ่าชรา...

หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ

๘ เมษายน ๒๕๖๐

กราบขอบพระคุณ และขออนุโมทนาบุญท่านเจ้าของผู้ถ่ายภาพนี้ พร้อมทั้งผู้ที่มีส่วนร่วมในการเผยแผ่โอวาทธรรมนี้ ทุกๆท่าน

Powered by MakeWebEasy.com